ถึงเวลาของม้าน้ำได้หรือยัง

ถึงเวลาของม้าน้ำได้หรือยัง

22 มกราคม มีรายงานข่าวเรื่องพบการขายม้าน้ำย่างที่เมืองพัทยา นำไปสู่เรื่องราวคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองในไซเตส และประเทศไทยต้องงดออกใบอนุญาตการส่งออกมาแล้ว

ไซเตส (CITES) หรือชื่อเต็ม อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือถูกคุกคามจนอาจเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ ผ่านกระบวนการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) โดยได้แบ่งบัญชีชนิดพันธุ์อนุรักษ์ไว้ 3 ระดับ แทนด้วยหมายเลข ชนิดพันธุ์ในบัญชี 1, 2 และ 3

สำหรับม้าน้ำ ถือเป็นสัตว์ที่อยู่ในชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) ของไซเตส กล่าวคือ เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้งจะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นๆ ในธรรมชาติ

ประเทศไทยเคยถูกจัดว่าเป็นตลาดการค้าม้าน้ำลำดับต้นๆ ของโลก หรือมากถึง 3 ใน 4 ของม้าน้ำที่มีการค้าระหว่างประเทศ มีประเทศจีนเป็นปลายทางการส่งออก จากความเชื่อเรื่องใช้เป็นสูตรผสมในการปรุงยาบำรุงกำลัง โดยราคาซื้อขายมีมูลค่าสูงถึงกิโลกรัมละ 100,000 บาท

แน่นอนการลักลอบค้าม้าน้ำจำนวนมากส่งผลให้จำนวนประชากรของม้าน้ำในไทยลดลงอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลจากกรมประมง รายงานการส่งออกม้าน้ำในปี 2556 มีการส่งออกจำนวน 1.2 ตัน ปี 2557 จำนวน 0.92 ตัน และในปี 2558 จำนวน 0.95 ตัน โดยในปี 2558 กรมประมงได้มีประกาศเรื่องงดออกใบอนุญาตส่งออกม้าน้ำเป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาการส่งออกม้าน้ำของไทย จากการที่ถูกคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสจัดให้การส่งออกม้าน้ำของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต้องห่วงใยเร่งด่วน (Urgent Concern)

ทั้งนี้ ในข้อบังคับไซเตสไม่ได้มีการควบคุมการค้าภายในประเทศ และม้าน้ำก็ไม่ได้มีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือคุ้มครองของไทย การจะอนุรักษ์ม้าน้ำหรือสร้างเกราะป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดกรณีการจับม้าน้ำมาขาย จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจสามารถดำเนินงานได้อย่างสมบูรณ์นัก

ถึงแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูจำนวนประชากรม้าน้ำผ่านกิจกรรมทั้งด้านงานวิจัย การเพาะพันธุ์ การปล่อยสู่แหล่งธรรมชาติ หรือการสร้างบ้านเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาศัยไปพอสมควรแล้ว หากแต่เมื่อยังขาด “เครื่องมือ” ในการจัดการที่เหมาะสมก็คงจะไม่มีอะไรเป็นหลักประกันให้กับม้าน้ำรวมถึงสัตว์ชนิดอื่นๆ ว่าจะไม่ถูกคุกคามจนนำไปสู่การสูญพันธุ์ได้

ที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินการด้านกฎหมายการค้าสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดีในหลายๆ เรื่อง ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างเรื่องการค้างาช้างที่ประเทศไทยดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งการออก พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ.2558 การขึ้นทะเบียนครอบครอบงาช้าง และการควบคุมตลาดการค้างาช้างภายในประเทศ แต่ในบางมิติที่สามารถนำไปสู่การป้องกันที่ต้นเหตุอย่างการประกาศรายชื่อสัตว์ป่าสงวนหรือคุ้มครองชนิดใหม่กลับเป็นไปอย่างล่าช้าตามขั้นตอนต่างๆ

เรื่องที่น่าสนใจอีกประการ คือ ความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของม้าน้ำต่อระบบนิเวศในเวลานี้ดูจะเป็นชุดความรู้ที่แทบไม่ถูกกล่าวถึง การสร้างความตระหนัก “รักษ์” ให้แก่ประชาชน หากขาดซึ่งรายละเอียดความสำคัญตรงนี้ไป ก็คงจะนำกลับไปสู่คำถามว่า อนุรักษ์แล้วได้อะไร ?

และคงไม่ใช่แต่ม้าน้ำ สัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่ถูกชุดความเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยา ใช้บำรุงร่างกาย สามารถรักษาโรคภัยได้ ใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงาม ส่งเสริมบารมี ฯลฯ เรากลับพบ “ข้อมูล” ที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ และประโยชน์ต่อมนุษย์มากกว่า “หน้าที่” ของสัตว์ป่าเหล่านั้นเมื่อมีคำถามถึง “คุณประโยชน์”

ทั้งการออกกฎบังคับอย่างชัดเจน และให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนในมิติที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสัตว์ป่า ควรจะต้องกำหนดเป็นเรื่องเร่งด่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาทำงานเชิงรุกกันอย่างเต็มกำลังกันเสียที

 


บทความ เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร