ชะลอผลักดันสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวน

ชะลอผลักดันสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวน

จากกระแสโซเชียลที่ร่วมกันผลักดันให้สัตว์ทะเลหายาก 4 ชนิด ประกอบด้วย วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง ขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรอการตรวจพิจารณาของสำนักกฤษฎีกา กำลังจะต้องรออีกต่อไป เมื่อล่าสุด กรมประมงได้แจ้งขอชะลอการเสนอขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวนแก่สัตว์ทะเลทั้ง 4 โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อไม่ให้ลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนที่ได้รับอนุญาตครอบครองสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

จากการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ปรากฏวาระเพื่อทราบ ระบุว่า

สำหรับ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. …. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 อนุมัติหลักการ ขณะนี้อยู่ในชั้นการตรวจพิจารณาของสำหนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และยังมิได้เสนอขึ้นทูลเกล้าลงพระปรมาภิไธย เนื่องจากมีข้อสังเกตเรื่องการลิดรอนสิทธิ์ของผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครองเต่ามะเฟืองและวาฬบรูด้า ซึ่งกรมประมง ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กษ 0510.6/7113 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 แจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าคณะกรรมการฝ่ายวิชาการพิจารณาสถานภาพสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 มีมติเห็นควรชะลอการเสนอพระราชกฤษฎีกาข้างต้นไว้ก่อน เนื่องจากมีผลกระทบและลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนผู้ได้รับอนุญาตครอบครองสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กรมประมงจึงขอให้นำเรื่องนี้แจ้งคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติเพื่อทราบ

สำหรับการผลักดันสัตว์ทะเลทั้ง 4 ชนิด (วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง) ขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวนนั้น เกิดจากการร่วมเสนอและผลักดันจากสาธารณชนที่เห็นถึงความสำคัญและสถานะจำนวนประชากรในธรรมชาติที่เหลือน้อยในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งได้ผ่านมติคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เดิมทีเรียกได้ว่า มีสถานะเป็น “ว่าที่สัตว์ป่าสงวน” ซึ่งเหลือเพียงขั้นตอนการเสนอขึ้นทูลเกล้าลงพระปรมาภิไธย สัตว์ทะเลทั้ง 4 ชนิดก็จะมีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวนที่ถูกต้องตามกฎหมาย

แต่จากการตั้งข้อสังเกตเรื่องการลิดรอนสิทธิ์ของผู้ได้รับอนุญาตที่ถูกเสนอเข้ามา จนต้องชะลอออกไปอีกนั้น จึงกลายเป็นคำถามที่ต้องติดตามต่อไปว่า แล้วเมื่อไหร่ สัตว์ทะเลทั้ง 4 ชนิด ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นี้ จะได้รับการคุ้มครองในฐานะสัตว์ป่าสงวนเสียที

 


เรื่อง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง จิรายุ เอกกุล