จากเพื่อนอนุรักษ์ ถึงอำพล ฐาปนพันธ์นิติกุล หรือ บินนาน ผู้ปิดทองหลังพระแห่งป่าตะวันตก

จากเพื่อนอนุรักษ์ ถึงอำพล ฐาปนพันธ์นิติกุล หรือ บินนาน ผู้ปิดทองหลังพระแห่งป่าตะวันตก

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทราบข่าวการจากไปของอำพล ฐาปนพันธ์นิติกุล หรือบินนาน ด้วยโรคมะเร็ง 

บินนานเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ในประเทศ ข่าวนี้ได้สร้างความโศกเศร้าให้กับหลาย ๆ คน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนกล่าวถึงพร้อมกันนั่นก็คือความดีที่ผู้ชายคนนี้ได้ทำไว้ในขณะที่เขายังโลดแล่นในวงการอนุรักษ์

 

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์บนเฟซบุ้คส่วนตัว ศศิน เฉลิมลาภ ถึงบินนาน ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“วิศวะคอมจากลาดกระบัง ใช้ชีวิตอยู่ในป่ามากกว่าเมืองกว่า 20 ปี ระดมทุนซื้อรถ ซื้อของ ทำเสาส่งวิทยุสื่อสารให้หน่วยพิทักษ์ป่าให้เชื่อมโยงระบบป้องกันรักษาป่าใหญ่ มรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

ไม่มีอาชีพอื่นนอกจากระดมทุนจากฝรั่ง จากคนไทยใครศรัทธาเขาก็ให้มา เขาบรรทุกของขึ้นรถเข้าป่า ทำ ๆ ๆ ๆ ๆ ไม่เคยร่ำรวย ไม่เคยมีเงิน สูบยาเส้น กินเหล้าขาว นาน ๆ ทีก็กินเบียร์บ้าง อยู่ป่าไม่อาบน้ำอาบท่าได้หลายสิบวัน

ไม่เคยรบกวนงบประมาณใคร หาเอง ทำเอง ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่ขาดอะไรที่สำคัญเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ในงานป้องกัน

คน ๆ นี้คิด ๆ ๆ ๆ หาเงิน ๆ ๆ ทำ ๆ ๆ ๆ

เดินทางหลายครั้งประสบอุบัติเหตุเจียนตาย รักษาตัวหาย เข้าป่า ทำงาน

ก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก ขยายผลออกสู่พื้นที่โดยรอบทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มีเพื่อนมิตรทั่วป่า เชื่อไหมมีคนทำแบบนี้จริง ๆ ในป่าใหญ่ ใครขอสัมภาษณ์ ใครจะให้รางวัลปฎิเสธหมด เชื่อไหม มีคนแบบนี้”

 

โชคนิธิ คงชุ่ม หัวหน้ากลุ่มใบไม้  ได้โพสต์บนเฟซบุ้คส่วนตัว Chokniti Khongchum ถึงบินนาน ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“สายน้ำย่อมมีทางไป”

เป็นข้อความ ที่พี่รินทร์ (บินนาน) พูดกับพวกเรา (กลุ่มใบไม้) เสมอ เสมือนเป็นการยืนยันหนทาง ว่างานที่กำลังทำอยู่นี้ หากคิดเริ่มที่จะทำแล้ว มันย่อมมีทางไปของมัน มิวิธีการที่เหมาะสมของมัน เราอย่าได้กังวลว่ามันจะทำไม่ได้ เมื่อคิดจะทำแล้วก็เหมือนสายน้ำ…ย่อมมีทางไป

“เก่ง…เอ็ง…หัวหน้าเผ่า…เอ็งฟังคำพี่…สายน้ำ ย่อมมีทางไป”

ความรู้ เป็นสิ่งที่พี่รินทร์สอนน้อยมาก นั่นเพราะเราอยู่ในยุคที่ข้อมูลความรู้อยู่เต็มไปหมด วิทยาการ นักวิชาการ แหล่งค้นข้อมูล สถาบันการศึกษา หนังสือตำรา ก็มีให้ศึกษาอยู่มาก เป็นไปตามยุคสมัยหรือเนื้องานนั้น ๆ ว่าเราอยากใช้ความรู้ตรงไหนมาทำงาน

แต่วิธีคิดและแนวทางการทำงานต่างหาก คือ สิ่งที่เป็นหัวใจของคนทำงาน เพราะหากเราไม่มีแนวทางตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น งานก็คงไม่เกิด

ชายคนหนึ่งที่ทำงานเพื่อผืนป่า โดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่เคยมีแม้แต่เงินเดือนของตัวเองแม้แต่บาทเดียว ท่านสอนผมและเพื่อน ๆ ทั้งด้วยถ้อยความและการกระทำเสมอ

ย้อนกลับไปนึกถึงครั้งแรกที่เจอกันเสมอ ผมถามพี่รินทร์ว่า “ที่ใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ ในตอนนี้ ชีวิตพี่มีความสุขใช่ไหมครับ “พี่รินทร์ยิ้มและตอบผมว่า” พี่ไม่รู้ว่าชีวิตพี่มีความสุขหรือเปล่า แต่พี่รู้ว่าชีวิตพี่มีความหมาย”

หากจะมีถ้อยคำใด ๆ มาใช้ในการขอบคุณได้ในครั้งนี้ ผมคิดว่ามันก็ยังคงไม่เพียงพอ

ในวันที่พี่รินทร์เดินทางไกล…เท่าที่พี่จะต้องการ

ไม่ต้องห่วงทางนี้ครับ…พี่ทำให้พวกเราแข็งแกร่งพอ

ที่จะสานต่อสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน

 

เพจเฟซบุ้ค THAI Forest Ranger ได้พูดถึงชายผู้นี้เช่นเดียวกัน ข้อความระบุว่า

“บินนาน…เบื้องหลังเครือข่ายสื่อสารป่าตะวันตก”

เสาสถานีแม่ข่ายวิทยุเขาพระฤาษี ตั้งสูงตระง่านอยู่กลางป่าทุ่งหญ้าบริเวณป่าหน่วยเซซาโว่ ที่ระดับความสูงประมาณ 1000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สถานที่ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานต่างๆของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร ส่งข่าวคราว แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย สั่งกับข้าว แม้กระทั่งการซื้อหวยของเจ้าหน้าที่ในป่าทุ่งใหญ่ฯ ในยุค ห้าจีที่ไม่มีอยู่ในป่าตะวันตก

“บินนาน” เป็นนามเรียกขานทางวิทยุ ที่ใช้แทนชื่อของ อำพล ฐาปนพันธ์นิติกุล หรือบางคนเรียกพี่รินทร์ ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งชมรม “อนุรักษ์ป่าตะวันตก” ซึ่งภารกิจหลักคือ การสนับสนุนงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก ซึ่งภารกิจที่สำคัญคือ การระดมทุนและก่อสร้างสถานีรับ-ส่งสัญญาณรีพีทเตอร์ และสนับสนุนอุปกรณ์วิทยุสื่อสารรวมทั้งปรับปรุง ซ่อมสร้าง ระบบเสารับส่งสัญญาณวิทยุให้กับหน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆในผืนป่าตะวันตก รวมทั้งยังเป็นหน่วยสนับสนุนการโครงการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเพื่อประเมินประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

“บินนาน ” ที่ใช้เรียกขานทางวิทยุสื่อสาร คงจะไม่ได้ยินเสียงตอบรับอีกแล้ว ในเครือข่ายวิทยุป่าตะวันตก คงเหลือไว้เพียงนามเรียกขานและความดี ที่เคยได้ทำร่วมกัน หลังวันที่ 14 กันยายน 2562 พี่รินทร์ ได้ถึงแก่มรณกรรมด้วยโรคมะเร็ง เป็นข่าวที่สุดเศร้าสำหรับพี่น้อง ผองเพื่อนนักอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก เพราะ “บินนาน” คือต้นแบบของนักอนุรักษ์ที่ทำงานด้วยหัวใจจิตอาสา จิตสาธารณะที่ทำงานเพื่อผืนป่าโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เป็นมิตรกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ จนได้สมญานามว่า

“หัวหน้าหน่วยพิทักษ์จิตวิญญาณอนุรักษ์” ในวันนี้ที่”บินนาน” ได้ออกบินทางไกลไปจนสุดขอบฟ้า บินไปสถิตอยู่ ณ ที่แห่งใดก็ตาม ความดีที่สั่งสม ทำประโยชน์เพื่อสังคมไว้ กายที่จากไป แต่หัวใจและวิญญาณ ยังคงอยู่คู่สรรพชีวิตในป่าตะวันตกตลอดไป

 

ไพโรจน์ ลิ้มเจริญ อดีตเจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้โพสต์บนเฟซบุ้คส่วนตัว Phairote Limcharoen ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“เราเจอกันปี 2542 ในโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ : WEFCOM Project. หลังได้รับคำแนะนำให้ไปสนทนาเชื้อเชิญชมรมอนุรักษ์ป่าตะวันตก มาเข้าร่วมคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกระดับจังหวัด : PCF ของจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อครั้งทำงานประสานงานในฝ่ายเครือข่ายชุมชนทั้ง 6 จังหวัดโดยรอบพื้นที่ผืนป่าตะวันตก..ไม่มีคำปฏิเสธจากพี่รินและคณะ

ตลอด 5 ปี ไม่มีการประชุมครั้งไหนที่จะไม่ได้รับการสนับสนุน..

ไม่มีถ้อยคำตำหนิบั่นทอนกำลังใจ มีแต่สนับสนุน ส่งเสริม กระทั่งปกป้องในหลายกรณีเพื่อให้การทำงานในพื้นที่ตลอดระยะเวลาในโครงการให้สำเร็จราบรื่น เพราะด้วยเป็นคนทำงานคงรู้ดีว่าการมาทำงานบุกเบิกความคิด แนวทางใหม่ ๆ ในพื้นที่ ไม่ง่ายที่ต้องฝ่าด่านมากมายโดยเฉพาะเจ้าถิ่น..

เมื่อครั้งมาตั้งสำนักงานชั่วคราวที่หน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก ในโครงการจัดการผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้งเชิงระบบนิเวศ : HKK – TY World Heritage Project

เมื่อปี 2548-2549 หลังจบโครงการ WEFCOM ก็เป็นท่านนี้ ที่ส่งเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริมครบครัน มาสนับสนุนให้ใช้งาน ทั้งยังถามไถ่ให้ข้อคิด คำแนะนำ แวะเวียนมาเยี่ยมยามพูดคุยเสมอยามเมื่อต้องผ่านไปทำงานที่เขานางรำ ทุ่งใหญ่ฯตะวันออกหรืออุ้มผาง

เป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง..

จนเมื่อจบโครงการการจัดการศึกษาเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง ปี 2551 มาตั้งกลุ่มกิจกรรมธรรมชาติ : Thai Nature Game Group ที่เมืองอุทัยธานี ทำงานจัดกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ก็เป็นคนเดิมนี้อีกนั่นแหละ ที่เอาเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำนักงานมาให้ พร้อมสอนให้ทำเวบไซค์ เอาไปฝากเข้าระบบพร้อมจ่ายค่าเช่าให้เสร็จสรรพ..

เราต่างเดินทางกันคนละฟากฝั่งของผืนป่า เธออยู่ตะวันตก ผมอยู่ตะวันออก มีบ้างเส้นทางมาบรรจบกัน เจอกันสนทนากัน เรื่องการทำงานบ้าง เรื่องธรรมชาติ แล้ววกมาธรรมะ บางทีมาอยู่ยืนหน้าสำนักงานแล้วโทรหาคุยกันกับคนในสำนักงานที่ออกไปทำงานภาคสนาม ได้เจอได้แวะจิบกาแฟสนทนายาวข้ามคืนบ้างตามโอกาส..

ตลอด 20 ปีที่เป็นคนรู้จัก มาเป็นคุ้นเคยจนมาเป็นเสมือนพี่ชาย มีเรื่องราวมากมาย..

แต่ในยามนี้ มันเหมือนน้ำตา ที่ไหลกลับเข้าไปข้างในมากกว่าจะรินหยาดออกมา..

เรื่องราวส่วนใหญ่ มันเล่าอยู่ในตัวงานที่อยู่มากมายแล้ว เพื่อนร่วมงาน คนทำงานรุ่นใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็เล่าในหลากหลายแง่มุม ที่สะท้อนจิตวิญญาณของการมีชีวิตอยู่..

ทุกสิ่งที่ได้ลงแรงไปจะอยู่ในความทรงจำของผู้คน

ขอบันทึกเพื่ออำลา พี่ชายคนหนึ่งนั้น

ผู้ที่ใคร ๆ รู้จักในนามเรียกขาน ริน บินนาน

หัวหน้าหน่วยพิทักษ์จิตวิญญาณแห่งป่าตะวันตก

ผู้เป็นมหาบุรุษด้วยหัวใจ ในความหมายเช่นที่ท่านพุทธทาส กล่าวไว้

แล้วก็ถึงวันที่บินนาน..บินไกล

ขอจิตโพธิสัตว์ของท่าน

สู่ฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์นะครับ..คารวะด้วยหัวใจ

 


บทความโดย
ศศิน เฉลิมลาภ
โชคนิธิ คงชุ่ม
THAI Forest Ranger
ไพโรจน์ ลิ้มเจริญ

ภาพเปิดเรื่อง โชคนิธิ คงชุ่ม