จากป่า สู่ทะเล : 10 มิติแห่งการอนุรักษ์

จากป่า สู่ทะเล : 10 มิติแห่งการอนุรักษ์

การใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ไม่ต่างอะไรจากการตัดขาดตนเองออกจากโลกชนบท คนเมืองน้อยคนที่จะเห็นปัญหาการริดรอนรุกล้ำพื้นที่ทำกิน และสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรของชาวบ้าน น้อยคน ที่จะรู้จักถึงสรรพสัตว์สิ่งมีชีวิตอย่างแท้จริง หากไม่ได้อิงจากนิยายหรือละครที่มีฉากหลังเป็นป่าเขา และงานรำลึก 21 ปี สืบนาคะเสถียรนี้เอง ได้มีการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของนักอนุรักษ์ทั้ง 10 คน ดังใจความของงานที่ว่า ‘จากป่า สู่เมือง’

 

“การจัดการมรดกโลก” ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง โดย คุณสุนทร ฉายวัฒนะ

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของป่าห้วยขาแข้ง ที่มีแม่น้ำไหลตรงตัดผ่าน และป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่มีภูเขากั้นตรงกลาง ซึ่งเป็นสัณฐานอันสำคัญนี้เป็นบ่อเกิดแห่งความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพ แต่สิ่งที่ตามมาคือความยากลำบากในการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

“เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วย เหมือนหยดน้ำที่หยดลงไปบางจุด” คำพูดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เพียงพอของเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ลาดตระเวน ทำให้ต้องมีการพัฒนาการลาดตระเวนให้มีประสิทธิภาพ โดยการผนวกรวมความรู้เชิงวิชาการ จนเกิดเป็น Smart Patrol ซึ่งเป็นระบบลาดตระเวนที่เน้นไปในจุดที่มีความเสี่ยงในการบุกรุกสูง รวมทั้งมีการประเมินติดตามจากหน่วยงานวิจัย

เป้าหมายหลักในการจัดการนั้นคือการดำรงไว้ซึ่งระบบนิเวศอันสมบูรณ์โดยใช้สัตว์ป่าเป็นตัวชี้วัด (Living Landscape) ซึ่งจะพิจารณาถึงสัตว์ป่าหลักๆสี่ชนิดคือ

1) เสือโคร่ง ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร พื้นที่ป่าใดมีเสือโคร่งในปริมาณมาก ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าป่านั้นมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของเสือโคร่ง
2) ช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้อาหารจำนวนมากต่อวัน
3) นาก ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยในแหล่งน้ำที่สะอาด และสัตว์น้ำที่มีจำนวนเพียงพอ
4) นกเงือกคอแดง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดในเรื่องไฟป่า โดยเฉพาะในป่าดิบเขา

สิ่งมีชีวิตทั้ง 4 ชนิดนี้ เปรียบเสมือนหัวใจหลักในการดำรงอยู่ของความหลากหลายของพันธุ์พืขและพันธุ์สัตว์ แสดงให้เห็นถึงกลไกการจัดการสู่ภาวะสมดุลของสิ่งแวดล้อมโดยตัวของมันเอง

 

“เสือโคร่งในประเทศไทย” โดย ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)

เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่สามารถปรับตัวได้จึงกระจายอยู่แทบทุกภูมิอากาศในโลก โดยในอดีตมีทั้งหมด 9 สายพันธุ์ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 6 สายพันธุ์ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ความสามารถในการปรับตัวของเสือโคร่งสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ไม่มีภัยคุกคามใดที่รุนแรงไปกว่ามนุษย์

“ผมเชื่อว่าไม่มีคนไทยคนใดไม่รู้จักเสือโคร่ง แต่คนไทยแทบทุกคนนั้นต่างรู้จักเสือโคร่งในแง่ของความโหดเหี้ยม แต่น้อยมากที่จะมองเสือโคร่งในด้านดี”

คำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ปฏิเสธได้ยาก เมื่อทุกสื่อที่สอนเรามาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือสารคดี ต่างมีจุดร่วมในการนำเสนอภาพความโหดร้ายของเสือโคร่ง แต่ความจริงแล้ว เสือโคร่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญในการควบคุมปริมาณสัตว์กินพืชไม่ให้มากเกินไป รวมทั้งเป็นกลไกในการคัดเลือกตามธรรมชาติเพื่อให้สัตว์กินพืชที่แข็งแรงสามารถอยู่รอดและสืบสายพันธุ์ต่อไป

“การอยู่รอดของเสือโคร่งหนึ่งตัว ไม่ได้เป็นเพียงการอยู่รอดของเสือโคร่งเพียงหนึ่งตัว แต่หมายถึงการรักษาปริมาณของสัตว์กินพืชให้สมดุล การคงไว้ซึ่งพื้นที่ป่ากว่า 200 ตารางกิโลเมตร และสุดท้ายคือการรักษาไว้ซึ่งสังคมมนุษย์”

ปัจจุบันที่อยู่ของเสือโคร่งเหลืออยู่เพียง 7% จากในอดีต และพื้นที่เหล่านี้บางแห่งก็ไม่เหลือเสือโคร่งอีกต่อไป เสือโคร่งบนโลกนี้มีทั้งหมดประมาณ 3,000 ตัว และอยู่ในประเทศไทยราว 200 ตัว ที่กำลังประสบปัญหาภัยคุกคามจากพื้นที่อาศัยที่ลดลง การล่าเสือโคร่งโดยตรง และการลดปริมาณลงของ ‘เหยื่อ’ แม้ว่าปัจจุบันโปรตีนจากป่าอาจไม่สำคัญเท่าในอดีตเพราะมนุษย์ได้พัฒนาระบบปศุสัตว์ แต่การล่าสัตว์ป่าก็ยังคงดำรงอยู่ เนื่องจากความต้องการของคนเพียงบางกลุ่ม

“การป้องกันมันไม่มีวันเสร็จ เพราะหยุดเมื่อไหร่ คนก็จะเข้ามาทันที เพราะธรรมชาติมันเป็นของฟรี”

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเสือโคร่งเป็นจำนวนมาก จากในอดีตที่เราแทบไม่รู้จักเสือโคร่งเลย เพราะในธรรมชาติแทบจะไม่มีโอกาสเห็นเสือโคร่ง ทำให้การเริ่มต้นของงานวิจัยเกี่ยวกับเสือโคร่งนั้นเริ่มอย่างยากลำบาก จึงต้องเริ่มที่ร่องรอยหรือการทำเครื่องหมายซึ่งพบเห็นได้ง่ายเสียก่อน จนในปัจจุบัน องค์ความรู้ของเสือโคร่งมีความสมบูรณ์มากขึ้น และสามารถนำมาใช้ในเชิงอนุรักษ์ได้

ก่อนจะจบการบรรยาย คุณศักดิ์สิทธิ์ยังฝากไว้ว่า “เสืออยู่ไม่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่จะอยู่ได้ด้วยการป้องกัน เพราะปัจจัยที่ทำให้เสือหมดไปคือมนุษย์ จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ในการปกป้องเสือโคร่ง”

 

“นกเงือกในประเทศไทย” โดย ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล

หากเอ่ยชื่อนี้ขึ้นมา คาดว่าผู้รักธรรมชาติน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักดร.พิไล อาจารย์ผู้ทุ่มเทให้กับการวิจัยและอนุรักษ์นกเงือก และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลผู้ทรงเกียรติด้านอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลกพร้อมกันถึง 2 รางวัล

“ยุทธศาสตร์ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าคือการคุ้มครอง ซึ่งแม้ว่าอาจจะมีเขียนอยู่ในกระดาษ แต่การบังคับใช้ยังไม่เกิดผล”

ดร.พิไล ได้มอบแนวทางในการอนุรักษ์คือ การอนุรักษ์โดยมีพื้นฐานจากความรู้เชิงวิชาการ ต้องมีการเผยแพร่ความรู้สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์

หลายคนอาจสงสัยว่า สัตว์ป่ามีตั้งหลายชนิด แต่ทำไม ดร.พิไลจึงต้องสนใจแต่เพียงนกเงือก

นกเงือกถือกำเนิดมาไม่น้อยกว่า 50 ล้านปี นกเงือกในปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดคือ Ground Hornbill ที่แอฟริกา ส่วนในเอเชียนกเงือกชนหินถือเป็นนกเงือกที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด คือราว 45 ล้านปี ถือได้ว่าเป็นนกที่โบราณ ทำให้ความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างต่ำ ถือเป็นสายพันธุ์ที่มีความเปราะบางอย่างสูง

นกเงือกในประเทศไทยส่วนใหญ่พบที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และบริเวณเทือกเขาบูโด นกเงือกมีลักษณะพิเศษคือการที่นกเงือกตัวเมียจะขังตัวเองอยู่ในโพรงไม้ เพื่อดูแลลูกอ่อน โดยตัวผู้จะเป็นผู้คอยดูแลเรื่องอาหารของทั้งแม่และลูก ถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นกว่านกสายพันธุ์อื่น จนได้รับการขนานนามว่าเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ต่อคู่รักของตนเอง

แต่การที่ต้องอาศัยโพรงก็ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ เนื่องจากกระบวนการเกิดโพรงในต้นไม้นั้นเกิดได้ยากมาก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดจากเชื้อรา หรือนกหัวขวาน (นกเงือกไม่สามารถเจาะโพรงเองได้) และนี่เองที่เป็นภัยคุกคามจากการขาดแคลนโพรงรัง หรือสภาพรังไม่เหมาะสม แต่ก็ได้มีการสำรวจและซ่อมโพรง ซึ่งโพรงรังที่ถูกทำลายส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์

นกเงือกถือเป็น Umbrella Species เช่นเดียวกับเสือโคร่ง คือเป็นผู้ปกป้องระบบนิเวศทั้งหมด โดยบทบาทสำคัญของนกเงือกคือการกระจายเมล็ดพันธุ์ จากลักษณะพิเศษของปากนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ และวิธีการกินแบบผลสุกและกักตุน จึงทำให้เมล็ดพันธุ์ที่นกเงือกพาไปนั้นมีความหลากหลาย และสมบูรณ์ถึง 99% โดยมีการสำรวจพบว่านกเงือกนั้นใช้พื้นที่กว้างราว 600 ตารางกิโลเมตรต่อปี แสดงให้เห็นว่ามีการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ดร.พิไลยังยกกรณีศึกษาของการล่านกเงือนที่เทือกเขาบูโด เนื่องจากราคาลูกนกเงือกสูงราว 5,000 – 30,000 บาท โดยดร.พิไลได้เข้าไปแก้ปัญหา ผ่านการทำความเข้าใจกับชุมชน และสร้างงานใหม่ในการดูแลนกเงือกในกับคนในหมู่บ้าน เป็นการเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม ที่นำไปสู่การถ่ายทอดความรู้สู่ลูกหลานต่อไป

 

“สัตวแพทย์สัตว์ป่า” โดย นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สัตวแพทย์ในสายตาของคนเมืองกรุง ย่อมมองไม่พ้นสัตวแพทย์ในคลินิกที่ทำการรักษาสัตว์เลี้ยงที่บาดเจ็บ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ายังมีกลุ่มคนเล็กๆ ที่ทำหน้าที่เป็นหมอให้แก่สัตว์ป่า หน้าที่ ที่ต้องบุกป่าฝ่าดง เดินทางไปในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย เพื่อดูแลสัตว์ป่าที่บาดเจ็บด้วยน้ำมือมนุษย์

“สัตวแพทย์ในปัจจุบันต้องเปลี่ยนบทบาทจากการรักษาสัตว์ป่า เป็นการดำรงไว้ซึ่งความหลากหลาย”

หากมองเพียงเผินๆ ชีวิตคนอาจดูไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตสัตว์ป่า แต่สิ่งที่ปรากฎต่อสายตาอย่างชัดเจนคือการระบาดของไข้หวัดนก ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจากสัตว์ จะเห็นว่าในที่สุดแล้ว สุขภาพสัตว์ หรือสุขภาพคน ต่างก็เป็นสุขภาพเดียวกัน ไม่สามารถแบ่งแยกได้

หมอล็อต หรือนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน ได้นำเรื่องเล่าหลายกรณีจากการที่สัตว์โดนคนทำร้าย หรือได้รับผลกระทบจากสิ่งก่อสร้างของคน จนเขาต้องเข้าไปช่วยเหลือ โดยหมอล็อตได้เสนอประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศแล้วผู้เลี้ยงนำมาปล่อยไว้ในธรรมชาติ การตัดแบ่งพื้นที่ป่าไม้เป็นเกาะจนสัตว์ไม่สามารถสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมได้เพราะต้องผสมพันธุ์กันเองในฝูง สิ่งเหล่านี้เองที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าในประเทศไทย

หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของสัตวแพทย์สัตว์ป่า คือการชันสูตรศพของสัตว์ป่าที่ตาย หรือ Wildlife Forensic ‘สัตว์นั้นพูดไม่ได้ คนจึงต้องพูดแทนมัน’ ซึ่งหมอล็อตได้ยกตัวอย่างของสัตว์ป่าที่ตายเพราะได้รับผลกระทบจากมนุษย์ เช่น การตายของช้างกว่า 6 เชือก ที่พบว่าได้รับสารพิษประเภทยาฆ่าแมลงเข้าไป หรือการตายของครอบครัวเสือโคร่ง จากการใช้เหยื่อล่อผสมยาฆ่าแมลงของนายพรานสมัยใหม่

“การไปช่วยเหลือสัตว์ป่าของสัตวแพทย์มีสองอย่าง คือการไปรักษาพยาบาล หรือไปช่วยให้สัตว์พ้นทุกขเวทนา” หลายครั้งที่สัตวแพทย์ ต้องเลือกที่จะจบชีวิตของสัตว์ป่าลง เพราะแม้จะยื้อต่อไป มีแต่จะทำให้สัตว์ทรมานเสียเปล่าๆ เช่นกรณีกระทิงถูกบ่วงแร้วของนายพรานจนขาแทบใช้การไม่ได้ หน้าที่ของสัตวแพทย์สัตว์ป่า คือการเข้าไปช่วยเหลือให้มันพ้นทุกขเวทนา ไม่ใช่ดันทุรังรักษา

สัตว์ป่า ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง หน้าที่ของสัตวแพทย์นั้นมีเพียง 30% ในการเข้าไปรักษา ส่วนที่เหลือนั้น เป็นหน้าที่ของธรรมชาติที่จะรักษาตัวมันเอง

 

“ทำไมต้องค้านเขื่อน” โดย คุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ

อดีตที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน มีการสร้างเขื่อนในประเทศไทยหลายแห่ง แต่ทุกครั้งหลังการสร้างเขื่อน แทบจะไม่มีใครติดตามตรวจสอบว่า การสร้างเขื่อนนั้นสุดท้ายแล้วใครกันที่ได้ประโยชน์ และเมื่อไปติดตามดูคุณภาพชีวิตของชาวบ้านที่โดนเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างเขื่อน นอกจากจะสูญเสียที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินแล้ว ยังคงถูกเมินเฉยโดยภาครัฐ อีกทั้งนโยบายของภาครัฐก็กลับขัดแย้งกัน คือนโยบายการดำรงไว้ซึ่งป่าไม้ แต่กลับมีนโยบายสร้างเขื่อนทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วม

สุดท้ายแล้วจุดประสงค์ของการสร้างเขื่อนคืออะไร ? บางคนอาจบอกว่า เพื่อเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่หากพิจารณาข้อมูลเชิงสถิติ จะพบว่าประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าเหลือในปริมาณที่มากพอจะขายให้กับต่างประเทศ อีกทั้งเขื่อนเองก็ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ไม่ถึง 10% แล้วมันคุ้มค่ากันหรือกับการทำลายพื้นที่ป่าไม้เพื่อสร้างเขื่อน

บางคนอาจอ้างว่าการสร้างเขื่อนไม่มีต้นทุนและไม่มีวันหมดอายุ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากการสร้างเขื่อนแต่ละแห่งย่อมมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูญหายไปใต้เขื่อน หรือการคอรัปชั่นในการสร้างเขื่อนจนเกิดงบประมาณบานปลาย บางแห่งถึงขนาดเกินกว่าที่ตั้งไว้ถึงสองเท่าก็มี อีกทั้งอายุการใช้งานของเขื่อนนั้นก็มีจำกัด เพราะใต้ท้องเขื่อนย่อมมีการทับถมของตะกอนจนความสามารถในการจุน้ำของเขื่อนนั้นลดลง ซึ่งจะเห็นได้ชัดที่เขื่อนสิริกิตติ์

“ใครๆ ก็เรียกร้องให้คนในพื้นที่เสียสละที่ดินของตนเพื่อสร้างเขื่อน แต่เมื่อมีการเรียกร้องกลับไปเพื่อขอพื้นที่ให้คนเหล่านั้นได้อยู่อาศัยกลับไม่มีใครยอมเสียสละให้” คุณหาญนรงค์กล่าวอย่างขมขื่น

ปัจจุบัน โครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่เคยพับเก็บไป ถูกหยิบมากางใหม่อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ ชาวบ้านในจังหวัดแพร่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเขื่อนมากขึ้น จึงร่วมกันลุกขึ้นมาคัดค้านอย่างเต็มที่

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การสร้างเขื่อนประสบความสำเร็จมานักต่อนัก คือวาทกรรมที่ว่า การสร้างเขื่อนจะทำให้สามารถจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ แก้ไขน้ำท่วมได้ แก้ไขปัญหาน้ำแล้งได้ แต่ความจริงก็พิสูจน์ให้เห็นกันทุกปีว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นเพียงความเชื่อฝังหัว เพราะการสร้างเขื่อนนั้นไม่ได้ตอบโจทย์การบริหารน้ำ และยังเป็นการสูญเสียพื้นที่ป่าโดยเปล่าประโยชน์

ปัญหาการจัดการน้ำจะหมดไปเมื่อเราหันหน้ามายอมรับความจริง น้ำท่วม ยังไงก็ยังต้องมีอยู่ แต่ต้องท่วมอย่างไรให้ไม่มีปัญหา เช่น เร่งเวลาให้มีการทำนาและเกี่ยวข้าวก่อนเดือนสิงหาคม แล้วเอาพื้นที่เหล่านั้นไปใช้ใส่น้ำ ไม่จำเป็นต้องเวนคืน เพราะช่วงนั้นชาวบ้านก็ประกอบอาชีพอื่นไม่ใช่ทำนาอยู่แล้ว

“น้ำท่วมคือต้องท่วม แต่ท่วมอย่างไรให้ปลอดภัย หน้าแล้งก็ต้องแล้ง แต่จะแล้งอย่างไรให้มีน้ำกิน” นี่ต่างหากไม่ใช่หรือ คือหัวใจแห่งการจัดการน้ำ ไม่ใช่พึ่งพาเครื่องมือวิเศษที่เรียกว่า ‘เขื่อน’ แล้วเฝ้าภาวนาให้มันแก้ไขทุกปัญหา

 

“สิทธิชุมชนกับฐานทรัพยากร” โดย คุณสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สิทธิมนุษยชน คือการดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียม และมีกฎหมายมากมายมากมายบัญญัติไว้อย่างสวยหรูในรัฐธรรมนูญ โดยที่ในโลกแห่งความเป็นจริง สิทธิมนุษยชนนั้นถูกละเมิดอย่างเปิดเผยและรุนแรงจากอำนาจของทุนนิยม และบางครั้ง อาจเป็นการละเมิดโดยอำนาจรัฐเองเสียด้วยซ้ำ

คุณสุนี ได้นำเสนอเรื่องราวในประเทศไทย ที่ถูกปิดเงียบราวกับไม่เคยเกิดขึ้น เช่นกรณีชาวบ้านกะเหรี่ยงถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐจากการเวนคืนที่ดิน และปัจจุบันก็ยังมีการต่อสู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อเรียกร้องให้รัฐ คืนชีวิตของพวกเขากลับมา การขุดลอกลำพะเนียง ที่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและรุกรานพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน พร้อมทั้งกีดกัน ไม่สนใจในความคิดเห็นและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ภายใต้โฉมหน้าที่ใช้ชื่อว่า ‘การพัฒนา’

“สิ่งสำคัญคือสิทธิชุมชน ในการร่วมมือตัดสินใจ จัดการฐานทรัพยากร เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี หรืออีกนัยหนึ่งคือการลดทอนอำนาจรัฐ”

อีกกรณีศึกษาคือ กรณีโฉนดที่ดินที่เกิดขึ้นมากมายภายหลังสึนามิ ที่เป็นการรุกรานถิ่นฐานของชนเผ่ามอแกน ที่ไร้สิทธิไร้เสียงในสังคมไทย เพราะถูกผลักดันให้เป็นคนชายขอบ รวมทั้งการรุกรานของนายทุนอย่างเห็นได้ชัดกรณีเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี โดยบริษัทเอพีซีซี อีกทั้งยังมีการแจกเงินค่าลอดใต้ถุนอย่างโจ่งแจ้ง แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจเงินเพื่อซื้อประชาชนอย่างชัดเจน

เหตุการณ์เหล่านี้ หากไม่ได้มารับฟังคงไม่เชื่อว่า มันเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นประเด็นที่ไม่น่าปล่อยให้ผ่านเลย เพราะนี่หมายถึงอนาคตรุ่นลูกหลาน ที่จะต้องมารับภาระวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ เพราะพวกเรา ประชาชนยุคปัจจุบัน ไม่สามารถรักษาให้รอดพ้นเงื้อมมือนายทุนและอำนาจรัฐได้

 

“ลมหายใจสีเขียว” โดย ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว

ตั้งแต่โบราณกาล มีการแยกแยะธาตุของมนุษย์ออกเป็น 4 ธาตุ คือธาตุดิน น้ำ ลมและไฟ ประกอบขึ้นเป็นชีวิต เป็นร่างกาย “โดยเฉลี่ยแล้ว มนุษย์ไม่สามารถขาดอากาศหายใจได้เกิน 3 นาที” ประโยคดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘ธาตุลม’ หรือลมหายใจที่โดยเฉลี่ยแล้ว มนุษย์ต้องหายใจเข้าออกประมาณ 20,000 ครั้งต่อวัน ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า การใช้ชีวิตในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์นั้น สำคัญเพียงใด

‘สุขภาพคนนั้นสัมพันธ์กับสุขภาพเมือง’ ด้วยความคิดดังกล่าว มูลนิธิโลกสีเขียวจึงได้ริเริ่มโครงการนักสืบสายลม เพื่อตรวจ ‘สุขภาพ’ อากาศในเมืองหลวงของประเทศไทย โดยใช้ตัวชี้วัดคือไลเคน หรือสิ่งมีชิวิตที่ประกอบขึ้นจากราและสาหร่าย ที่มีหลากหลายสายพันธุ์และใช้เป็นตัวชี้วัดระดับมลพิษในอากาศ และผลที่ได้ออกมาก็พบว่า กรุงเทพฯ เมืองซึ่งถูกคุกคามโดยรถยนต์นั้น กำลังป่วยและกัดกินสุขภาพของประชาชนไปทีละน้อย จนตัวเลขค่าใช้จ่ายจากปัญหามลภาวะทางอากาศในประเทศไทย สูงถึง 5,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสูงกว่ามลพิษทางน้ำ และทางดิน

“ทางมูลนิธิโลกสีเขียวได้เสนอวิธีแก้ไขคือการเปลี่ยนกรุงเทพฯเป็นเมืองจักรยาน เช่นเดียวกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วที่กรุงโบโกต้า เมืองหลวงของประเทศโคลัมเบีย” ผ่านแนวคิดง่ายๆคือ เปิดใจ เปิดทาง เพื่อเปลี่ยนทัศนคติ บอกว่าเมืองแห่งนี้ และพวกเราต้องการการเปลี่ยนแปลง พร้อมสนับสนุนให้มีช่องทางให้กับจักรยาน ซึ่งการขี่จักรยานยังเป็นการ ‘ยอมรับปัญหา’ มากกว่าการ ‘หนีปัญหา’ โดยซ่อนตัวอยู่ในรถติดแอร์ หลีกหนีความจริงว่าเมืองหลวงแห่งนี้เต็มไปด้วยมลภาวะ

 

“ธุรกิจสีเขียว” โดย ดร.วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์ ประธานกรรมการ บริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด

ปัจจุบัน เทรนด์ธุรกิจสีเขียวกำลังมาแรงจนโครงการ CSR หรือ Corporate Social Responsibility ผุดขึ้นราวดอกเห็ด ทั้งๆที่หลายคนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ ในเนื้อแท้ของ CSR “ธุรกิจสีเขียวไม่ใช่ธุรกิจที่ลงไปปลูกป่า แล้วปล่อยให้กว่า 95% ตายไปโดยไม่มีใครกลับไปเหลียวแล” ประโยคดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้อย่างดีถึงแนวคิดฉาบฉวย สร้างภาพ และการตลาดภาพลักษณ์แบรนด์ ที่ CSR ถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือประชาสัมพันธ์

ดร.วัชรมงคล ได้หยิบยกพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ขึ้นมาใช้อ้างอิงในการพัฒนาธุรกิจ และเน้นย้ำไปที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และความสมดุลในทุกด้าน

“องค์กรธุรกิจจะต้องสมดุลใน 3 ด้านคือ พึ่งพาตนเองได้ ปรับตัวแข่งขันได้ และเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้” ดร.วัชรมงคล กล่าวพร้อมอธิบายถึงโครงสร้างธุรกิจสีเขียวของเขา ที่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจอ่างอาบน้ำ ที่มองอย่างไรก็ไม่เห็นมุมไหนเป็นสีเขียว แต่ภาพที่ฉายบนไสลด์ สื่อความจริงที่ว่า ไม่ว่าธุรกิจใดก็สามารถรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้

หัวใจของธุรกิจสีเขียว เริ่มต้นที่การดูแลสวัสดิการพนักงานให้สามารถยืนได้ด้วยตนเอง ซึ่งบริษัทบาธรูม ดีไซน์ ได้มีการทำนาและเกษตรกรรมแบบ ‘แปลงรวม’ ที่พนักงานร่วมกันดูแล และเมื่อมีผลิตผล ก็นำมาขายกันเองให้กับพนักงานในราคาถูก ซึ่งถือเป็นโมเดลที่ใช้ในการลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งบริษัทยังมีนโยบายในการให้พนักงานต้องออกไปทำงานบริการสังคม เช่นไปตามบ้านพักคนชรา อย่างน้อยปีละครั้ง รวมทั้งนโยบายในการบริจาคเงินที่หนักงานบริจาคเท่าไร บริษัทจะสมทบทุนเพิ่มขึ้นให้อีกหนึ่งเท่า

นโยบายและกิจกรรมมากมาย ไม่ใช่การทำโครงการ ‘รับผิดชอบต่อสังคม’ แบบฉาบฉวย แต่เป็นการวางรากฐานอย่างยั่งยืน โดยมองว่าหากพนักงานอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน และรู้จักคิดรู้จักใช้เงิน วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ย่อมเปิดทางให้กลไกจิตสำนึกเพื่อตอบแทนสังคมทำงาน โดยไม่ต้องเรียกร้อง

 

“ระบบนิเวศ 3 น้ำ” โดย คุณสุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสมุทรสงคราม

ระบบนิเวศสามน้ำเกิดได้ในบริเวณปากแม่น้ำที่ไหลลงทะเล ซึ่งจะได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง จนเกิดเป็นระบบนิเวศที่ประกอบด้วยกันทั้งสามน้ำ คือน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ซึ่งระบบนิเวศแบบนี่ พบได้ที่บริเวณ อ่าว ก.ไก่ ซึ่งเป็นสัณฐานที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีแม่น้ำไหลลงทะเลในอ่าวนี้ถึง 5 สาย

“เคยสงสัยไหมว่า ทำไมสัตว์น้ำบริเวณปากแม่น้ำแม่กลองถึงมีชื่อเสียง ทั้งที่ลักษณะการไหลลงทะลก็ไม่ต่างจากแม่น้ำเจ้าพระยา ? นั่นก็เพราะแม่น้ำแม่กลองไม่มีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ”

ประชาชนและนักการเมืองหลายคนอาจมองว่าการที่น้ำจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลคือความสูญเปล่า แต่ความจริงแล้วน้ำในแม่น้ำที่ไหลรินจากป่าเขาบนผืนดิน ต่างโอบอุ้มแร่ธาตุที่สำคัญ รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์มาเติมให้กับทะเลซึ่งไม่สามารถสร้างธาตุอาหารเองได้ บริเวณดินดอนปากแม่น้ำ จึงเป็นสถานที่ที่สัตว์น้ำซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตเช่นแพลงตอน เข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก

อีกตัวชี้วัดความสมดุลคือป่าชายเลน ซึ่งป่าชายเลนมีลักษณะพิเศษคือการเป็นพืชมีหน่อยึดเกาะผืนดิน เป็นบ้านและที่พักพิงให้กับสัตว์เล็กๆก่อนลงสู่ทะเล แต่ปัจจุบัน ระบบนิเวศบริเวณป่าชายเลนเริ่มเสียสมดุล จากการสร้างเขื่อนที่ลดปริมาณตะกอนที่ไหลคืนสู่ทะเล จนธรรมชาติเสียสมดุล

แนวคิดสมัยใหม่ของตะวันตก ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดเสมอไป แต่รัฐบาลไทยหลายครั้งเลือกมองข้ามสิ่งนี้และยัดเยียดการพัฒนาพร้อมฝันสวยหรูถึงชีวิตที่ดีขึ้น

“กรุงเทพฯสมัยก่อนอยู่กับน้ำขึ้นน้ำลงได้ เพราะมีวัฒนธรรมการทำเกษตรแบบยกร่อง แต่ปัจจุบันต้องป้องกันน้ำท่วมจากประตูกั้นน้ำ” นี่ก็ถือเป็นการกร่อนกลืนของวัฒนธรรมไทยที่อยู่กับวิถีธรรมชาติ ใต้หน้ากากของการพัฒนา ซึ่งมนุษย์พยายามฝืนธรรมชาติเพื่อสร้าง ‘กำไรสูงสุด’ แต่ในความเป็นจริงกลับทำลายสมดุล เช่นในกรณีนี้ การสร้างประตูกั้นน้ำเป็นการกีดกันตะกอนที่จะไหลมากับน้ำ จนกรุงเทพฯประสบปัญหาการทรุดตัวเช่นในปัจจุบัน

นโยบายการถมทะเลเองก็ไม่ต่างกัน เป็นการทำลายสมดุลอันอุดมสมบูรณ์ และต่อเติมสัณฐานสำคัญทางธรรมชาติจนบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง สุดท้ายก็เป็นการฆ่าตัวตายทางอ้อมอย่างช้าๆ และมอบภาระการดิ้นรนเอาชีวิตรอดให้แก่คนรุ่นหลัง

 

“ทะเลไทย” โดย ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คนไทยไม่เคยรับรู้ถึงการที่ทะลในอ่าวเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ประเทศไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่สำนึกรักทะเลของคนไทยนั้นยากที่จะปลุกให้รับรู้ ทั้งที่ทะเลไทยนั้นเป็นตัวแปรหนึ่งของความเจริญรุ่งเรืองของไทยในปัจจุบัน

“สัตว์ทะเลไม่มีศักดิ์เท่ากับสัตว์ป่า ทั้งในแง่กฎหมายหรือความรู้สึกที่สื่อถึงใจผู้คน” คำกล่าวนี้คงยากที่จะปฏิเสธว่าไม่จริง เมื่อมีภาพฉายชัดอยู่บนจอถึงภาพการตกปลาขนาดใหญ่ที่ทุกคนต่างยิ้มแย้มดีใจ กับภาพของหมีป่าตัวหนึ่งที่ถูกฆ่าโดยนายพราน ที่ชาวบ้านต่างมุงดูด้วยความสะเทือนใจ ทั้งสองภาพต่างสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยไม่เคยมองเห็นว่าปลาเป็นสัตว์ แต่มองเป็นทรัพย์เสรีที่ใครจับได้ก็มีสิทธิครอบครอง

การทำร้ายท้องทะเลเริ่มขึ้นจากการเข้ามาของอวนลาก อวนรุนในปีพ.ศ.2504 ที่ทำให้ประเทศไทยขึ้นเป็นประเทศที่ทำประมงได้เป็นอันดับ 3 ของโลก ความรู้สึกที่ว่าจับปลาไม่ผิด ทั้งทางกฎหมาย และทางจิตใจ ยิ่งเร่งให้การทำประมงมองไปที่ผลกำไรมากกว่าความใส่ใจในระบบนิเวศ อีกทั้งคนบางกลุ่มยังมองทะเลเป็นถังขยะ หรือที่รองรับน้ำเสีย ความคิดเหล่านี้ต่างทำร้ายท้องทะเลเรื่อยมา

กระทั่งในปี พ.ศ.2530 กับค่านิยมที่ว่า ‘ใครอยากรวยถ้าไม่ค้าเฮโรอีน ก็ต้องเลี้ยงกุ้งกุลาดำ’ ที่ทุกคนต่างมุ่งเข็มเข้าทำร้ายป่าชายเลนจนลดลงกว่า 50% และภายหลังจากกอบโกยเสร็จก็เกิดปัญหานากุ้งถูกทิ้งร้าง ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะมีการปลูกป่าชายเลนทดแทน แต่ป่าชายเลนในการรับรู้ของคนไทยก็เป็นเพียงป่าโกงกาง ความคิดดังกล่าวถือเป็นความเชื่อผิดๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นป่าใดในโลก ต่างต้องมีการเกื้อกูลกันของสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ สอดประสานกันเป็นระบบนิเวศ

เมื่อทะเลถูกเปลี่ยนแปลงเป็นแหล่งท่องเที่ยว ภัยคุกคามอีกครั้งจึงเริ่มต้นขึ้น จากการเปิดหน้าดินและการทำรีสอร์ทริมฝั่งทะเล มอบตะกอนสีแดงให้เป็นความรับผิดชอบของทะเล ทับถมปะการังและทำลายทัศนียภาพอันงดงามของทะเลจนแหลกยับ

และวิกฤตการณ์ล่าสุดของโลก คือการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศจนเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในแถบเอซียแปซิฟิก ซึ่งในประเทศมาเลเซียได้มีมาตรการปิดพื้นที่แห่งนั้นทันที แต่ที่ประเทศไทยกลับมาการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวผู้สนใจไปดูปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างครึกครื้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความไม่เข้าใจในธรรมชาติของทะเล

หลังจากการคุมคามโดยประชาชนและนายทุน ท้องทะเลก็กำลังจะโดนคุกคามโดยรัฐบาลจากแผนพัฒนาภาคใต้ การสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา ที่กำลังมีการต่อสู้กันอยู่ระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ แต่ที่น่าแปลกใจคือ ทำไมคณะกรรมการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA จึงปล่อยให้โครงการท่าเรือปากบารา ผ่านการตรวจสอบได้ ทั้งๆ ที่มีหลักฐานอย่างชัดเจนถึงการที่บริเวณดังกล่าวเป็นป่าหญ้าทะเลขนาดใหญ่ มีสัตว์ทะเลเช่นหอยปากเป็ดและปูทหารอย่างอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งฟอสซิลของหอยโบราณที่กินพื้นที่ตั้งแต่บริเวณหาดถึงเขาหินปูน

ทะเลมอบอะไรให้กับคนไทยมากมาย แต่สิ่งที่คนไทยตอบแทนกลับมีการทำร้ายอย่างเอาเป็นเอาตาย จนได้เพียงแต่หวังว่าสักวันหนึ่ง ประชาชนจะสำนึกคุณค่าและร่วมกันรักษ์ทะเล ก่อนที่จะไม่เหลืออะไรให้รักษา

เพียงเพื่อจะรักษาธรรมชาติ คุณให้ได้มากกว่าความเห็นใจ

จากประสบการณ์ของทั้ง 10 นักอนุรักษ์ ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนเริ่มมองเห็นภาพรวมในหลากมิติของการอนุรักษ์ ตั้งแต่ป่าซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดน้ำ ผ่านมาสู่เมืองที่เราอยู่อาศัย และสุดท้ายก็ไหลลงสู่ทะเล ทุกองค์ประกอบนั้นต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มนุษย์ จะหวังเอาแต่เพียงผลประโยชน์ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะความต้องการของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด แต่ธรรมชาติก็มีขีดจำกัดของตัวมันเอง

สุดท้าย ผู้เขียนเพียงต้องการให้ ‘ลงมือทำ’ เสียที เพราะในขณะนี้ มีแต่คนที่เห็นใจและหยิบยื่นข้ออ้างข้อจำกัดต่างๆนาๆ จนลืมไปว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงง่ายที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงที่ตัวของคุณเอง โดยเริ่มง่ายๆจากการลดปริมาณการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย ศึกษาธรรมชาติอย่างเข้าใจ และถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของคนรอบข้าง เพราะโลกนี้เป็นของเรา ไม่ใช่ของคนเพียงบางกลุ่ม

 


บทความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ถอดความจาก เสวนาวิชาการจากป่าสู่เมือง รำลึก 21 ปี สืบ นาคะเสถียร