คำถามในรอยแหว่งเว้าบนเชิงดอยสุเทพ

คำถามในรอยแหว่งเว้าบนเชิงดอยสุเทพ

ภาพถ่ายทางอากาศ (จากโปรแกรม google earth) บริเวณเชิงดอยสุเทพในปี พ.ศ.2556 แสดงพื้นที่สีเขียว เป็นผืนป่าปกคลุมทึบ มีจุดพื้นที่รับน้ำที่ได้จากกลไกนิเวศการให้น้ำของผืนป่า ต่อมาในปลายปีเดียวกัน พื้นที่ป่าค่อยขยับร่นจากปลายเขาไต่ขึ้นสูงไปเรื่อยๆ จนมาเด่นชัดในปี พ.ศ.2558 สีเขียวที่เคยเห็นแทนที่ด้วยสีแดงดิน กลายเป็นรอยแหว่งเว้าขนาด 147 ไร่

พื้นที่ป่า 147 ไร่ หายไปไหน กลายเป็นคำถาม ที่สาธารณชนคงได้รับคำตอบชัดเจนในวันนี้ว่าเป็นบ้านพักข้าราชการตุลาการ และมีกำหนดใกล้แล้วเสร็จขึ้นมาทุกขณะ พร้อมๆ กับเสียงคัดค้านของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่อื่นๆ ที่ร่วมแสดงถึงความ “ไม่เห็นด้วย”​ กับการเอาป่าไปแลกสิ่งปลูกสร้างตรงเชิงดอย

เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร บ้านพักข้าราชการตุลาการบริเวณเชิงดอยสุเทพ เป็นส่วนหนึ่งโครงการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการ จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยอาคารศาลและบ้านพักสำหรับประธานศาล ผู้พิพากษา ช้าราชการ กระจายอยู่รอบๆ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ใช้งบประมาณกว่าพันล้านบาท

เมื่อป่าหายไป ย่อมมีการทักท้วงเกิดขึ้น และตามมาด้วยคำถามที่ว่า ที่กำลังสร้างอยู่นี้รุกที่ป่าหรือเปล่า คำตอบที่ได้จากการชี้แจงจากประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 คือ ไม่ใช่การรุกป่าดอยสุเทพ ทั้งยังระบุด้วยว่าได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ราชพัสดุจากมณฑลทหารบกที่ 33 อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้านกรมป่าไม้ ได้ชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และทหาร ซึ่งที่ผ่านมาก็ระบุว่ามีการขอใช้พื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตามในอดีตพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นป่าตามสภาพ ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 แต่เมื่อมีหนังสือให้หน่วยงานอื่นดูแล ก็ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้แล้ว

แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป การก่อสร้างก็ดำเนินเรื่อยมาท่ามกลางเสียงคัดค้านที่มีขึ้นมาตลอดของประชาชนชาวเชียงใหม่ ที่หน้าเฟสบุ๊ค ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ได้อ้างถึงการเรียกร้องให้ตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างว่ามีความเป็นมาอย่างไร เริ่มทักท้วงและคัดค้านมาตั้งแต่ปี 2558 หรือเมื่อสืบสาวตามความค้นข่าวสารก็พบการนำเสนอข่าวนี้อยู่เป็นระยะ เพียงแต่ไม่ถี่เท่ากับในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีการเรียกร้องอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

เมื่อมีเสียงคัดค้าน ทำไมยังเดินหน้าต่อ ย้อนกลับไปอ่านคำให้สัมภาษณ์ของประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 เมื่อปี 2559 ระบุว่า เรื่องการระงับการก่อสร้างนั้น คงจะไม่ทำแน่นอนเพราะได้ดำเนินการมาอย่างถูกต้องและใกล้แล้วเสร็จแล้ว คงจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป

ก็ถูกกฎหมายแล้วคัดค้านทำไม ดร.ทนง ทองภูเบศร์ ได้สร้าง แคมเปญ “ขอให้ศาลอุธรณ์ ภาค 5 คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 147 ไร่ 3 งาน 41 ตร.ว.” ซึ่งได้ให้เหตุผลของการสร้างแคมเปญนี้ความตอนหนึ่งว่า ไม่ว่าโครงการก่อสร้างจะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่คุ้มค่ากับคุณค่าแท้ของพื้นที่ป่าธรรมชาติ และระบบนิเวศภูเขา และยังให้เหตุผลอีกว่า

 

การรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าธรรมชาติ และระบบนิเวศภูเขา จะทำให้สูญเสียทัศนียภาพที่งดงามของดอยสุเทพ และเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมรดกที่ล้ำค่าทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ทั้งยังทำให้สูญเสียป่าที่เป็นปอดของคนเชียงใหม่

 

เมื่อมันสูญเสียไปแล้วจะเรียกความสมบูรณ์คืนกลับมาได้อย่างไร ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้สัมภาษณ์ว่า การวางแบบแปลนได้ให้ผู้รับเหมา เลือกตัดต้นไม้ เท่าที่จำเป็น พร้อมกับเว้นพื้นที่ประมาณ 58 ไร่ที่ลึกเข้าไปให้คงสภาพพื้นที่เดิม พร้อมย้ำว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะปรับภูมิทัศน์ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อไป

ท่ามกลางกระแสคัดค้านที่ดังถี่ขึ้นเรื่อยๆ นั้น ผู้บัญชาการทหารบก พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ได้สั่งชะลอโครงการอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการบ้านศาลยุติธรรม เพื่อตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง อ้างอิงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 แต่หลังจากนั้น 8 วัน (วันที่ 28 มีนาคม) ผู้บัญชาการทหารบก ได้อนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างต่อได้ โดยให้ความเห็นว่า เมื่อตรวจสอบแล้วทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ก็อนุญาตให้ดำเนินการต่อได้ จนจบโครงการ ส่วนความไม่สบายใจของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ต้องมีการพูดคุยกันระหว่างส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ศาล เพื่อให้ได้รับการยอมรับกันมากที่สุด โดยฝ่ายทหารจะช่วยอำนวยความสะดวก

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อถึงวันเวลาเจรจาจริง ตามกำหนดวันที่ 2 เมษายน ที่มณฑลทหารบกที่ 33 ระหว่างเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพและประชาชนชาวเชียงใหม่ กับผู้แทนของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยมีฝ่ายทหารเป็นคนกลาง ก็เป็นเพียงหวังที่ไม่มีวันเป็นจริง เนื่องจากทางฟากของศาลได้ขอยกเลิกการเจรจาไปเสียก่อน

ณ ขณะนี้ แม้ว่าการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ จะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อให้แล้วเสร็จตามที่อ้างไว้ว่าใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้วจึงไม่อาจยกเลิกได้ แต่ทางฝ่ายคัดค้านก็ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าคัดค้านต่อไป และจะมีการเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ยุติโครงการนี้ลง

ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่าได้ทราบถึงกรณีการคัดค้านที่เกิดขึ้นแล้ว และให้สัมภาษณ์ว่า กรณีการก่อสร้างบ้านพักตุลาการบนดอยสุเทพ ซึ่งขณะนี้เกิดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ และถูกมองว่ามีการออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์การใช้พื้นที่ป่า รัฐบาลกำลังเร่งหาทางออกในเรื่องนี้ โดยเบื้องต้นให้ฝ่ายความมั่นคงพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือสถานที่ทำงานและบ้านพัก ที่ต้องหาวิธีที่เหมาะสมในการดำเนินการ แต่ต้องมีการปรับพื้นที่ให้คืนสู่สภาพเดิมให้ได้ ซึ่งเป็นหลักการที่ต้องหารือร่วมกับศาล คสช.และฝ่ายกฎหมาย

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของคำถามจากสังคม และคำตอบของผู้เกี่ยวข้อง ถึงภายในความแห่งเว้าที่เกิดขึ้นตรงเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ นับจากนี้จะมีคำถามใดปรากฎออกมาอีก และต่างฝ่ายจะได้รับคำตอบที่ถูกใจตนหรือไม่ ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป ซึ่งนี่อาจจะเป็นอีกกรณีหนึ่งที่นำไปสู่มาตรฐาน ความเชื่อถือต่อความตระหนักในความยุติธรรมที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศในอนาคต

 

อ้างอิง

 


บทความ เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ facebook.com/rungsrit.kanjanavanit