ความอุดมสมบูรณ์ของป่าทุ่งใหญ่ฯ เหตุผลที่บอกได้ว่า ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์ครูสาวชาวไทยกะเหรี่ยงเผชิญหน้ากับเสือโคร่ง ?

ความอุดมสมบูรณ์ของป่าทุ่งใหญ่ฯ เหตุผลที่บอกได้ว่า ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์ครูสาวชาวไทยกะเหรี่ยงเผชิญหน้ากับเสือโคร่ง ?

ข้อมูลจากกองทุนสัตว์ป่าโลก WWF (World Wildlife Fund) ระบุถึงจำนวนประชากรเสือโคร่งทั่วโลกในเวทีการประชุม Global Tiger Forum (GTF) ในปี 2559 มีประมาณ 3,890 ตัว ด้านสถานะเสือโคร่งในประเทศไทยพบว่ามีเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าราว 250 ตัว จากผืนป่าที่มีอยู่ทั้งหมดของประเทศไทย  

จากการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ด้วยการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพพบว่าในพื้นที่ป่าตะวันตก มีการกระจายตัวของเสือโคร่งไปหลายพื้นที่ รวมไปถึงเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

จากเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างครูสาวชาวไทยกะเหรี่ยงกับเสือโคร่ง บริเวณเส้นทางเข้า-ออก หมู่บ้านที่ตั้งอยู่กลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก โดยครูสาวเลือกใช้เส้นทางที่ตัดผ่านกลางป่าจึงทำให้มีโอกาสสูงที่จะเจอกับสัตว์ป่า เหตุการณ์นี้บ่งบอกได้ว่าในพื้นที่ทุ่งใหญ่ฯ มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะแก่การดำรงชีพของสัตว์ป่ามากน้อยแค่ไหน

 

ผืนป่าตะวันตกเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่อยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศไทย ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ที่ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมด้วยกันทั้งหมด 17 แห่ง ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีขนาดพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12 ล้านไร่ หรือ 18,727 ตารางกิโลเมตร

ปัญหาหนึ่งที่เราทราบกันดีเกี่ยวกับสถานการณ์ป่าไม้ไทยก็คือการลดจำนวนลงของพื้นที่ป่าและการลดลงของสัตว์ป่าจนบางชนิดสูญพันธุ์ไปจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิม ป่าไม้ซึ่งเป็นเสมือนบ้านที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารถูกทำลายลงด้วยการให้สัมปทานป่าไม้ การบุกรุกขยายพื้นที่ทำกินของราษฎรที่เพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้นทุก ๆ วัน การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าด้วยการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ การเปลี่ยนสภาพป่าดั้งเดิมตามธรรมชาติให้เป็นแปลงปลูกต้นไม้โตเร็ว เป็นต้น

สาเหตุเหล่านี้ทำให้ป่าไม้ธรรมชาติซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหลบภัย สำหรับสัตว์ป่าเหลืออยู่น้อยเต็มที ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ป่าในประเทศไทยที่ยังคงอุดมสมบูรณ์มีเพียง 20% เท่านั้น และหนึ่งในนั้นคือผืนป่าตะวันตก ป่าผืนนี้เสมือนเป็นบ้านหลังสุดท้ายของสัตว์ป่า

กิจกรรมจากฝีมือมนุษย์นับเป็นฝันร้ายหนึ่งที่ทำให้จำนวนเสือโคร่งในพื้นที่ทุ่งใหญ่ฯ ลดลง ปัจจุบันมีโครงการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้เสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลกได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย มีอาหาร และมีพื้นที่อย่างเพียงพอที่จะดำรงชีวิต นั่นก็คือโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก หรือโครงการเสือ ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรรับผิดชอบจะเป็นงานด้านประสานงานกับชุมชนในด้านต่าง ๆ ในการเข้าไปหนุนเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านที่อยู่กลางป่า เพื่อลดอัตราการพึ่งพิงป่าและไม่ถากถางป่าเพิ่ม เมื่อคนมีอาชีพ มีกินมีใช้อย่างเพียงพอ ชาวบ้านก็จะบุกรุกป่าน้อยลง

 

 

ผืนป่าตะวันตกเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ มีความปลอดภัยจากภัยคุกคามต่าง ๆ และมีอาหารเพียงพอต่อเสือโคร่ง ผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร มีหน้าที่ควบคุมประชากรของสัตว์ที่เป็นเหยื่อให้มีความสมดุล ถือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า

เหตุผลที่สัตว์ป่าสามารถอยู่รอดได้ในป่าทุ่งใหญ่แห่งนี้

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ให้เหตุผลการลดลงของจำนวนประชากรเสือโคร่ง 3 ปัจจัยหลักด้วยกันคือ ปัจจัยแรกเกิดจากการล่า สองคือจำนวนของเหยื่อลดน้อยลง สามคือพื้นที่ป่าถูกทำลายซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาที่หนักที่สุด แต่อย่างไรก็ตามปัญหามักจะมาพร้อม ๆ กันทั้งหมด

ป่าที่เสือโคร่งจะอาศัยและดำรงเผ่าพันธ์ุได้นั้นต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอ ข้อมูลจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำพบว่าการครอบครองพื้นที่ของเสือโคร่งเพศผู้ใช้พื้นที่ประมาณ 200 – 300 ตร.กม. เพศเมียใช้พื้นที่หากินและเลี้ยงลูกประมาณ 30 – 80 ตร.กม. ขึ้นอยู่กับความชุกชุมของปริมาณเหยื่อในพื้นที่ หากเหยื่อมีน้อยพื้นที่หากินก็จะกว้างยิ่งขึ้น และพื้นที่ครอบครองของเสือโคร่งจะไม่มีการทับซ้อนกัน

ปัจจัยต่อมาคือพื้นที่ตรงนั้นต้องมีอาหารที่เพียงพอ นั่นแปลว่าป่าไม้ในเขตทุ่งใหญ่ฯ มีลักษณะพิเศษตามธรรมชาติ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และที่หลบซ่อนป้องกันภัยของสัตว์ป่าที่สมบูรณ์ ทำให้ป่าแห่งนี้มีสัตว์ป่าอยู่อย่างชุกชุมมาก ไม่ว่าจะเป็น ช้างป่า หมีควาย หมีหมา ชะนี กระทิง หมูป่า สมเสร็จ เก้งหม้อ เลียงผา กวางป่า ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบเพราะเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่า

 

PHOTO WWF-ประเทศไทย และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

สัตว์ป่าเหล่านี้ถือเป็นอาหารอันโอชะของผู้ล่าอย่างเสือโคร่ง สอดคล้องกับข้อมูลจากนักวิจัยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำที่พบว่า เสือโคร่งมักจะหากินในพื้นที่ราบมากกว่าพื้นที่เชิงเขา เนื่องจากกระจายตัวของเหยื่อจะอยู่บริเวณป่าที่ราบมากกว่า จึงไม่แปลกที่จะมีเสือออกมาหากินในบริเวณนี้

หากไม่นับการล่าที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ สิ่งนี้ก็เป็นคำตอบได้ว่าทำไมสัตว์ป่าถึงอยู่รอดได้ในป่าทุ่งใหญ่แห่งนี้

ปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่กล่าวมาเป็นเหตุผลที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เอื้อต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าและเสือโคร่ง

การใช้เส้นทางในป่ามีโอกาสที่จะเจอสัตว์ป่าอยู่แล้ว และพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ราบต่ำซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่า จึงไม่แปลกที่จะเกิดเหตุการณ์ เช่นที่ครูสาวชาวไทยกะเหรี่ยงเผชิญหน้ากับเสือโคร่งกลางผืนป่าใหญ่

สิ่งหนึ่งที่พอจะทำได้ก็คือระมัดระวังการใช้เส้นทาง และมีสติอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงทั้งคนและสัตว์ป่า

 


อ้างอิง
เสือโคร่งกับนักวิจัย เรียนรู้ ผูกพัน และอนุรักษ์
จากห้วยขาแข้งถึงแม่วงก์ กับความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ป่า และสถานภาพของสัตว์ป่าในปัจจุบัน
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ พัชริดา พงษปภัสร์