การมาถึงของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

การมาถึงของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

‘หายนะทางชีวภาพ’ ของสัตว์ป่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมายืนยันว่าโลกการสูญพันธ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์โลกอาจรุนแรงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ชนิดพันธุ์ทั้งที่พบเห็นได้ทั่วไปและชนิดพันธุ์หายาก โดยพบว่าประชากรแต่ละชนิดพันธุ์รวมจำนวนนับพันล้านชีวิตที่อยู่อาศัยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นกำลังสูญหายไป พวกเขากล่าวโทษว่าจำนวนประชากรมนุษย์ที่มากเกินไป การบริโภคที่เกินระดับที่เหมาะสมเป็นสาเหตุของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ และยังเตือนอีกว่าการสูญพันธุ์ดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่ออยู่รอดของอารยธรรมมนุษย์ และเราเหลือเวลาอีกไม่มากที่จะรับมือ

การศึกษาดังกล่าวเผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences โดยเลือกใช้ลักษณะคำที่แตกต่างจากงานวิชาการทั่วไป เช่น เรียกการสูญเสียสัตว์ป่าจำนวนมากว่า “หายนะทางชีวภาพ” ที่เป็นตัวแทนของ “การจู่โจมที่น่าหวาดหวั่นไปยังพื้นฐานของอารยธรรมมนุษย์” โดยศาสตราจารย์ Gerardo Ceballos จาก Universidad Nacional Autónoma de México หัวหน้าทีมวิจัยระบุว่า “สถานการณ์ดังกล่าวค่อนข้างแย่ ผมจึงจำเป็นต้องใช้คำที่ค่อนข้างรุนแรง”

งานศึกษาชิ้นก่อนหน้านี้ระบุว่าชนิดพันธุ์ต่างๆ กำลังสูญพันธุ์ในอัตราที่รวดเร็วกว่าหลายล้านปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การสูญพันธุ์ก็นับว่าเป็นสิ่งที่พบได้ค่อนข้างยากหากเปรียบเทียบกับความหลากหลายทางชีวภาพที่ค่อยๆ สูญหายอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยชิ้นใหม่จึงหันมาศึกษาจำนวนประชากรชนิดพันธุ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปซึ่งพื้นที่กระจายพันธุ์ลดลง แต่ยังพบเห็นได้บ้างในบางแห่ง

กลุ่มนักวิจัยยืนยันว่า ราว 1 ใน 3 ของสัตว์และพืชหลายพันชนิดกำลังสูญเสียจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่ได้จัดอยู่ในสัตว์ที่อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ก็ตาม โดยคาดว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนประชากรดังกล่าวลดลงราวครึ่งหนึ่ง โดยข้อมูลอย่างละเอียดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แสดงให้เห็นว่า ชนิดพันธุ์เกินกว่าครึ่งได้สูญเสียพื้นที่กระจายพันธุ์ไปกว่าร้อยละ 80 ใน 100 ปีที่ผ่านมา

 

สัดส่วนของชนิดพันธุ์ที่สูญเสียแหล่งที่มีพื้นที่พบเห็นน้อยลงมากกว่าร้อยละ 80 ระหว่าง ค.ศ. 1900 – ค.ศ. 2015

 

ชนิดพันธุ์ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ต่างกำลังสูญหายไปทั่วโลก จึงสามารถกล่าวได้ว่า การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 นั้นเดินหน้าไปไกลกว่าที่เราเคยคาดไว้ โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้สรุปว่า “หายนะทางชีวภาพจะส่งผลร้ายแรงทั้งด้านระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคม มนุษยชาติจะต้องจ่ายราคาแพงในฐานะผู้ทำลายองค์ประกอบที่มีชนิดเพียงหนึ่งเดียวที่เรารู้จักในจักรวาลแห่งนี้”

พวกเขากล่าวว่า ความพยายามในการหยุดการสูญพันธุ์นั้นยังคงเป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น “ทุกสัญญาณต่างชี้ไปยังการทำลายล้างความหลากหลายทางชีวภาพที่รุนแรงขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับวาดภาพชีวิตในอนาคตที่น่าเศร้า รวมไปถึงชีวิตของมนุษย์”

สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติกำลังล้มหายตายจากเนื่องจากการทำลายที่อยู่อาศัย การล่าเกินระดับที่เหมาะสม การปนเปื้อนของมลภาวะ การคุกคามโดยชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดก็คือ “จำนวนประชากรมนุษย์ที่มากเกินไป การเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง การบริโภคเกินความจำเป็นโดยเฉพาะเหล่าผู้มีอันจะกิน”

“คำเตือนของเราควรจะได้รับการไตร่ตรอง เนื่องจากอารยธรรมมนุษย์ต้องพึ่งพิงพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กบนโลกที่ผลิตนิเวศบริการตั้งแต่การผสมเกสรพืช ปกป้องและผลิตอาหารจากทะเล และดำรงไว้ซึ่งสภาพภูมิอากาศที่อยู่อาศัยได้” Paul Ehrlich อาจารย์มหาวิทยาลัย Stanford ให้สัมภาษณ์ และเสริมว่านิเวศบริการที่สำคัญนอกเหนือจากที่กล่าวไว้ก็คือการทำให้น้ำและอากาศสะอาดขึ้น

นักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลสัตว์มีกระดูกสันหลังบนบกกว่า 27,500 ชนิดพันธุ์จาก IUCN และพบว่าชนิดพันธุ์ราว 1 ใน 3 มีพื้นที่กระจายพันธุ์ที่น้อยลงในทศวรรษที่ผ่านมา และสัตว์ส่วนใหญ่คือสัตว์ที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่นนกแอ่นลมที่เคยพบเห็นในเมืองเม็กซิโกในอดีต แต่ในรอบสิบปีที่ผ่านมากลับไม่มีให้พบเห็นเลยสักตัว

กรณีที่นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดคือการหายไปของสิงโต “ในอดีตสิงโตจะอยู่อาศัยทั่วทั้งแอฟริกาและยุโรปตอนใต้ รวมถึงบริเวฯตะวันออกกลาง และทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียว แต่ปัจจุบันประชากรสิงโตส่วนใหญ่ได้สูญหายไปแล้วจากโลก”

 

พื้นที่กระจายพันธุ์ของสิงโตในอดีต (สีเหลือง) เปรียบเทียบกับปัจจุบัน (สีส้ม)

 

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ Stuart Pimm จากมหาวิทยาลัย Duke สหรัฐอเมริกามองว่า ผลสรุปของการศึกษานั้นถูกต้อง แต่ยังยากที่จะกล่าวว่าเรากำลังเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 “มันยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ก็ใกล้เข้ามาทุกที”

Stuart Pimm อธิบายว่า การศึกษาแบบภาพกว้างที่ใช้เพื่อทำการวิจัยอาจทำให้เกิดคำถาม เช่น “แน่นอนว่าเราควรกังวลหากประชากรสัตว์ลดลงในบริเวณกว้าง แต่อย่างไรก็ดี บางส่วนของโลกอาจมีการสูญเสียมาก แต่ในขณะเดียวกันบางพื้นที่ก็มีความก้าวหน้า เช่น ประเทศแอฟริกาใต้ที่สามารถปกป้องสิงโตได้เป็นอย่างดี”

ส่วน Robin Freeman จาก Zoological Society of London สหราชอาณาจักร เสนอว่า “การมองในภาพรวมนั้นน่าสนใจ แต่คำถามที่น่าสนใจกว่าคือการมองลึกลงในรายละเอียดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประชากรสัตว์ลดลง”

เมื่อปี พ.ศ. 2557 Robin Freeman เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยที่ศึกษาชนิดพันธุ์กว่า 3,000 ชนิดและได้ข้อสรุปว่าประชากรสัตว์ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ศ. 2514 เขามองว่าคำพูดแรงๆ อาจเป็นเรื่องจำเป็น “เราต้องพยายามให้ประชาชนเข้าใจว่ากำลังเกิดวิกฤติ ผมคิดว่าเราอาจจะมีพื้นที่สำหรับเรื่องดังกล่าวในงานวิจัยที่เรากำลังทำ แต่มันจะต้องมีความชัดเจนอย่างมาก”

 

สิงโต สัตว์ที่ครั้งหนึ่งเคยอาศัยทั่วทวีปแอฟริกาและทางตอนใต้ของยุโรป แต่ปัจจุบันกลับมีพื้นที่กระจายพันธุ์เหลืออยู่ไม่มากนัก

 

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ 5 ครั้งในประวัติศาสตร์โลก

1. การสูญพันธุ์ ณ ปลายยุคออร์โดวิเชียน เมื่อราว 443 ล้านปีที่แล้ว ยุคน้ำแข็งที่รุนแรงทำให้ระดับน้ำทะเลลดลงถึง 100 เมตร ทำให้ชนิดพันธุ์ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ใต้น้ำราวร้อยละ 60 – 70 ต้องสูญพันธุ์ไป และเมื่อน้ำแข็งละลายก็ทำให้มหาสมุทรขาดออกซิเจน

2. การสูญพันธุ์ ณ ปลายยุคเดโวเนียน เมื่อราว 360 ล้านปีที่แล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ที่ยาวนานทำให้ชนิดพันธุ์ที่อาศัยในน้ำตื้นสูญพันธุ์ไปกว่าร้อยละ 70 รวมถึงปะการังจำนวนมหาศาล

3. การสูญพันธุ์ ณ ยุคเพอร์เมียน – ไตรแอสสิค เมื่อราว 250 ล้านปีที่แล้ว เป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ทำให้ชนิดพันธุ์กว่าร้อยละ 95 ต้องสูญพันธุ์ไปรวมทั้งไทรโลไบท์และแมลงขนาดใหญ่ เป็นเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับการระเบิดของภูเขาไฟที่ทวีปไซบีเรียนที่ส่งผลให้โลกร้อนขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

4. การสูญพันธุ์ ณ ยุคไตรแอสสิค- จูราสสิค เมื่อราว 200 ล้านปีที่แล้ว เป็นการสูญพันธุ์ที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดอีกครั้ง ทำให้ชนิดพันธุ์สูญพันธุ์ราวร้อยละ 75 และทำให้พื้นผิวโลกปราศจากสิ่งมีชีวิตอื่น และทำให้ไดโนเสาร์ยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก

5. การสูญพันธุ์ ณ ยุคครีเตเชียส และเทอเธียรี เมื่อราว 65 ล้านปีที่แล้ว เกิดจากอุกกาบาตขนาดใหญ่ชนโลกที่ประเทศเม็กซิโก หลังจากที่เกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ในพื้นที่ที่เป็นประเทศอินเดียในปัจจุบัน ทำให้ไดโนเสาร์และแอมโมไนท์สูญพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมถึงมนุษย์ยึดครองพื้นผิวโลก


 

ถอดความและเรียบเรียงจาก Earth’s sixth mass extinction event under way, scientists warn โดย Damian Carrington เข้าถึงได้ที่ https://www.theguardian.com/environment/2017/jul/10/earths-sixth-mass-extinction-event-already-underway-scientists-warn
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์