รู้รอบเรื่องอุทยานธรณีสตูล

รู้รอบเรื่องอุทยานธรณีสตูล

ความหมายของอุทยานธรณี

อุทยานธรณี คือ พื้นที่ที่ประกอบไปด้วยแหล่งที่มีความสำคัญอย่างโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา รวมถึงคุณค่าทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ทั้งบนบกและทะเล

 

กำเนิดอุทยานธรณีสตูล

อุทยานธรณีสตูลได้รับการประกาศจัดตั้งให้เป็น “อุทยานธรณีสตูล” (Satun Geopark) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นอุทยานธรณีแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย อุทยานธรณีสตูลตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทิอกเขาหินปูน ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ ถ้ำตะการตา ท้องทะเล และชายหาดที่สวยงาม โดยนายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ

จากการที่กรมทรัพยากรธรณีได้สำรวจ วิเคราะห์ และประเมินแหล่งธรณีวิทยา จึงได้ผนวกแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา กับแหล่งทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรมในพื้นที่นำไปสู่การกำหนดขอบเขตอุทยานธรณีสตูล ซึ่งมีเนื้อที่ราว 2,597.21 ตร.กม. ครอบคลุมอำเภอมะนัง อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า และอำเภอเมืองบางส่วน

 

ความสำคัญของพื้นที่

แผ่นดินอุทยานธรณีสตูลมีอายุเก่าแก่กว่า 500 ล้านปี คือ ซึ่งเริ่มต้นมาจากพื้นที่ทะเล ยุคแคมเบรียน (Cambrian Period) ที่พบหลักฐานที่เป็นซากดึกดำบรรพ์ประจำยุคนี้ก็คือ ฟอสซิลไทรโลไบต์ ที่เป็นฟอสซิลซึ่งอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากยุคดังกล่าวแล้วยังพบซากดึกดำบรรพ์ ของมหายุคพาลีโอโซอิก (Palaeozoic Eras) ที่เหลือเช่นกัน ทั้งยุคออร์โดวิเชียน ที่มีกลุ่มสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก “สโตรมาโตโลต์”, ยุคไซลูเรียน (Silurian) ถึงไทรแอสสิก (Triassic) ตอนต้น ขณะนั้นแผ่นดินอุทยานธรณีสตูลยังจมอยู่ใต้ท้องทะเล และยุคไทรแอสสิกตอนกลางถึงปัจจุบัน ซึ่งการชนกันของเปลือกโลกทำให้พื้นที่อุทยานธรณีสตูลยกตัวขึ้นมาเหนือพื้นที่ทะเล

แสงแดดกำจายโอบล้อม สายลมพัดพาคลื่นกระทบพื้นที่กลายเป็นภูมิทัศน์ที่สวยงาม อุดมไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ เป็นแหล่งรวมทรัพยากรด้านธรณีวิทยาจำนวนมาก อาทิ ควนเปลือกหอย, ชายฝั่งทะเลโบราณเขาทะนาน, ซากดึกดำบรรพ์บ้านตะโล๊ะไส, ซุ้มหินชายฝั่งเกาะไข่, ถ้ำพุทธคีรี, น้ำตกธารสวรรค์, ผาโต๊ะนางดำ, หาดกรวดหินงาม, เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย, แบไรต์ทุ่งหว้า และแมงดาทะเลโบราณเกาะตะรุเตา เป็นต้น

นอกจากจะเป็นแหล่งธรณีวิทยาอันหลากหลายแล้ว ทั้งหน้าผาสูงชัน ถ้ำ ธารลอด อุทยานธรณีสตูลยังมีแหล่งโบราณคดี ที่มีสถานปัตยกรรมบ้านเรือนที่ได้รับอิทธิพลผสมผสานระหว่างจีนกับโปตุเกส ที่สร้างอาคารแบบ ชิโน-โปรตุกีส (Sino-Portuguese style) หลงเหลือไว้เป็นโบราณสถานบอกเล่าความเจริญรุ่งเรืองในยุคหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมาสู่ยุคปัจจุบัน

แผ่นดินผืนนี้ได้เชื่อมโยงมนุษย์เข้ามาอิงอาศัยใช้ถ้ำเป็นบ้าน ปัจจุบันในพื้นที่ยังมีชนพื้นเมืองทั้ง “มานิ” ที่อาศัยตามเขาหินปูนและ “อูรักลาโว้ย” ที่อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ ที่ผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมร่วมกับความรู้สมัยใหม่ในการดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรม

 

ความหมายของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก

อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Globat Geoparks) เป็นโครงการด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เราเรียกกันว่า “ยูเนสโก”

อุทยานธรณีโลก เป็นขอบเขตพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าทั้งด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ผ่านการบริหารจัดการแบบองค์รวมระหว่างการอนุรักษ์ การให้ความรู้ การศึกษาวิจัย และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้การจัดการอย่างมีส่วมร่วมทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และชุมชน ร่วมกันเรียงร้อยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ให้ทุกคนต่างเห็นความสำคัญของมรดกทางธรณีวิทยาผ่านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ปัจจุบันทั่วโลกมีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก จำนวนทั้งสิ้น 140 แห่ง ใน 38 ประเทศ โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอุทยานธรณีธรณีโลกของยูเนสโกแล้ว จำนวน 4 แห่ง ใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศมาเลเซีย 1 แห่ง, เวียดนาม 1 แห่ง และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย 2 แห่ง

 

กว่าจะเป็นอุทยานธรณีโลก

เนื่องจากอุทยานธรณีสตูลนั้นมีคุณค่าและความสำคัญดังที่ได้กล่าวไปเบื้องต้น จึงนำไปสู่การยกระดับอุทยานธรณีสตูลให้กลายเป็นอุทยานธรณีโลกยูเนสโก โดยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย อาทิ ภาครัฐ กรมทรัพยากรธรณี องค์กรท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ ที่เล็งเห็นความสำคัญ และช่วยกันผลักดันให้อุทยานธรณีนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก และจัดทำเอกสารประกอบการสมัคร พร้อมยื่นหนังสือถึงยูเนสโก

ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการเสนอให้อุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

กระทั่ง ระหว่างวันที่ 25-28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 Prof.Artur และ Mr.Li Wei คณะกรรมการผู้ตรวจการประเมินจากยูเนสโก ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินอุทยานธรณีสตูลเพื่อเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลก

 

สถานะปัจจุบันของอุทยานธรณีสตูล

ปัจจุบัน (17 เมษายน) อุทยานธรณีสตูลได้รับการประกาศได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก (Satun UNESCO Global Geopark) ผ่านหน้าเว็บไซต์ www.unesco.org ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 36 และเป็นแหล่งที่ 5 ของอาเซียน อีกทั้งยังเป็นแห่งแรกของประเทศไทยด้วย โดยประเทศไทยจะได้รับมอบสัญลักษณ์ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561

 

ประโยชนจากการเป็นสมาชิกของอุทยานธรณีโลกยูเนสโก

นอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในด้านความหลากหลายและคุณค่าของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา ความล้ำค่าและสวยงามของทรัพยากรจะดึงดูดและเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามายังพื้นที่ ซึ่งจะสร้างรายได้แก่ชุมชน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการเกิดจิตสำนึก การใช้ หวงแหนและปกป้องคุ้มครองทรัพยากรและยั่งยื่น

 


อ้างอิง
Satun becomes Thailand’s first UNESCO Global Geopark
กรมทรัพยากรธรณี
ภาพประกอบ en.unesco.org/photo-galleries/27825
เรื่อง พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร