ตัวนิ่ม 3 สายพันธุ์ ถูกปรับสถานะให้มีความเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

ตัวนิ่ม 3 สายพันธุ์ ถูกปรับสถานะให้มีความเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

อนาคตของ “ลิ่น” หรือ “นิ่ม” หรือที่นิยมเรียกกันว่า ตัวลิ่น หรือ ตัวนิ่ม กำลังตกอยู่ในความมืดมน หลังสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ประเมินให้ตัวนิ่ม 3 สายพันธุ์ มีสถานะที่ใกล้ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

จากตัวนิ่มทั้งหมด 8 สายพันธุ์ หนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ตกเป็นเครื่องมือทางการค้าของมนุษย์มากที่สุด โดยล่าสุดตัวนิ่มสายพันธุ์แอฟริกัน 2 สายพันธุ์ คือ ลิ่นต้นไม้ท้องดำ (Phataginus tricuspis) และลิ่นยักษ์ (Smutsia gigantea) ถูกปรับสถานะจาก “สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์” เป็น “สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์” และในสายพันธุ์เอเชีย ลิ่นฟิลิปปินส์ (Manis culionensis) ถูกปรับจาก “สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์” เป็น “สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์”

ขณะเดียวกัน ไม่มีสายพันธุ์ไหนที่ถูกประเมินให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุมูลเหตุของการปรับสถานะครั้งนี้ว่า การลดลงของตัวนิ่มอาจมีที่มาจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเพราะผืนป่าถูกบุกรุกและถูกล่าเพื่อสนองความต้องการบริโภคในตลาดเนื้อสัตว์

“นี่เป็นข่าวที่น่ากลัวอย่างมาก แต่ก็ไม่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่ที่ตอนนี้มีสายพันธุ์ของตัวนิ่มทั้ง 3 ชนิด ถูกจำแนกอย่างเป็นทางการว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” Audrey Delsink ผู้อำนวยการสัตว์ป่าแอฟริกาแห่ง Humane Society International กล่าว

เกล็ดของตัวนิ่ม ซึ่งสารประกอบส่วนใหญ่เป็นเคราตินคล้ายกับเล็บของมนุษย์ เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดเอเชีย มีประเทศจีนและเวียดนามเป็นแหล่งที่ค้าขายลำดับต้นๆ ตามความเชื่อที่ยังเข้าใจว่าเกล็ดของตัวนิ่มมีคุณสมบัติเป็นยา สามารถบำรุงสตรีที่มีประจำเดือน กระตุ้นการให้นมบุตร และการรักษาโรคไขข้ออักเสบ (แม้นักวิทยาศาสตร์ยืนยัน ไม่พบคุณสมบัติทางยาในเกล็ดของตัวนิ่ม – ผู้แปล)

ในแอฟริกา มีการประเมินว่า ในหนึ่งปีอาจมีตัวนิ่มในป่าแอฟริกาถูกล่าถึง 400,000 ตัว เพื่อถูกส่งต่อไปยังไปทางที่ประเทศจีน และเพื่อนำเกล็ดไปใช้ไปทำเป็นยารักษาโรคตามที่อ้าง รวมถึงการส่งขายเนื้อไปยังภัตตราคาร

ทั้งนี้ในปี 2559 ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ร่วมกันเสนอให้ตัวนิ่มทั้ง 8 ชนิด เป็นสัตว์ที่ห้ามมีการค้าขายตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์

แต่กระนั้นการค้าตัวนิ่มก็ยังดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่ท่าว่าจะลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นักวิจัยยังไม่ทราบถึงรายละเอียดเชิงลึกของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้สักเท่าไหร่ เนื่องจากตัวนิ่มเป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางคืน ทำให้สำรวจและวิจัยได้ยาก และเป็นผลให้ไม่มีข้อมูลเชิงปริมาณถึงสถานะของตัวนิ่มในป่ามากนัก แต่จากข้อมูลที่แน่ชัด นักอนุรักษ์ต่างทราบดีว่า ตัวนิ่มและสัตว์ป่าชนิดต่างๆ กำลังอยู่วังวนการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายที่กระจายอยู่ในตลาดทั่วโลก

ตัวนิ่มทุกสายพันธุ์กำลังถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งสถานะของแต่ละสายพันธุ์กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ซึ่ง 3 ใน 4 ของตัวนิ่มสายพันธุ์เอเชีย ประกอบด้วย ลิ่นจีน, ลิ่นซุนดา, (พบได้ในประเทศไทยและมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 – ผู้แปล) และลิ่นฟิลิปปินส์ ถูกระบุให้เป็น “สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์” ส่วน ลิ่นอินเดีย อยู่ในลำดับ “สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์”

ทางฟากของตัวนิ่มแอฟริกาทั้ง 4 สายพันธุ์ อันประกอบด้วย ลิ่นเทมมิค ลิ่นต้นไม้ท้องดำ ลิ่นต้นไม้ท้องขาว และลิ่นยักษ์ ก่อนหน้านี้ทั้ง 4 สายพันธุ์มีสถานะ “สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์” เป็น “สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์”

 


สถานะการอนุรักษ์ ตามบัญชีแดงของ IUCN

สูญพันธุ์
สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว (EX – Extinction)
สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติ (EW – Extinct in the Wild)

เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR – Critically endangered species)
สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN – Endangered species)
สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU – Vulnerable species)

เสี่ยงระดับต่ำ
สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Threatened species)
สิ่งมีชีวิตที่จำเป็นต่อการอนุรักษ์ (LR/cd – Conservation Dependent)
สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (NT – Near Threatened)
สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ (LC – Least Concern)

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
อ้างอิง Three pangolin species closer to extinction: IUCN
Image by Gregg Yan via Wikimedia Commons (CC BY-SA 4.0)