การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับวิกฤติผู้ลี้ภัย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับวิกฤติผู้ลี้ภัย

บริเวณปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีผลิตภาพทางการเกษตรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และยังเป็นแหล่งส่งออกสินค้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว กุ้ง รวมถึงผลไม้ต่างๆ โดยมีประชากรกว่า 18 ล้านชีวิตอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ดี พื้นที่ลุ่มต่ำต่างเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีประชากรราว 1.7 ล้านชีวิตอพยพออกจากบริเวณปากแม่น้ำโขง ในขณะที่มีเพียงประชากร 700,000 คนเท่านั้นที่เข้ามาตั้งรกราก

การอพยพจากบริเวณชนบทสู่เมืองใหญ่เป็นปรากฎการณ์ระดับโลก ทุกปีจะมีประชากร 1 ใน 200 คนที่จะอพยพจากพื้นที่ชนบทเข้าสู่เมือง อย่างไรก็ดี เหตุผลในการอพยพเข้าสู่เมืองนั้นมีหลากหลายเกินกว่าที่จะสรุปได้ อีกทั้งบริบทแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน แต่อัตราการอพยพจากบริเวณปากแม่น้ำโขงที่สูงลิบหากเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น ก็สามารถบ่งชี้ได้ว่า การอพยพดังกล่าวอาจเกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พื้นที่เกษตรบริเวณปากแม่น้ำโขง

 

เมื่อ พ.. 2556 ผู้เขียนได้เข้าเยี่ยมชุมชน Thạnh Đông ในจังหวัด Sóc Trăng  เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภาพทางการเกษตร แต่สิ่งที่พบคือเกษตรกรทุกคนไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิต เนื่องจากพวกเขาและเธอสูญเสียผลผลิตอ้อยทั้งหมดจากน้ำเค็มที่รุกคืบมาอย่างผิดคาด เกษตรกรที่ไม่มีสินทรัพย์รองรับภัยพิบัติดังกล่าวต้องเผชิญกับความยากจน ครอบครัวเกษตรกรรายย่อยหลายร้อยครอบครัวบอกกับเราว่า พวกเขาอาจไม่สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อีกต่อไป

เมื่อ 3 ปีก่อน เกิดภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงในรอบ 100 ปี ทำให้น้ำเค็มรุกคืบเข้ามาในภูมิภาคกว่า 80 กิโลเมตร ทำลายพื้นที่เกษตรกว่า 160,000 เฮกตาร์ ในจังหวัด Kiên Giang ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ผลสำรวจระบุว่าอัตราการอพยพเพิ่มขึ้นเป็น 1 ต่อประชากร 100 คน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งโดยนักวิชาการชาวเวียดนาม Oanh Le Thi Kim และ Truong Le Minh จากมหาวิทยาลัย Van Lang ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรราวร้อยละ 14.5 ตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐานจากลุ่มน้ำโขง หากตัวเลขดังกล่าวถูกต้อง นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบังคับให้ประชากร 24,000 คนต่อปีต้องอพยพ

นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญของการย้ายถิ่นฐานคือต้องการหนีจากความยากจน ซึ่งอาจเป็นผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ตัวเลขร้อยละ 14.5 นั้นอาจต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

อัตราการอพยพสุทธิของพื้นที่ชนบทของเวียดนาม เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก

 

ยังมีอีกหลายปัจจัยซึ่งทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจอพยพที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น บ้านบางหลังคาเรือนที่ถูกกัดเซาะจนอยู่อาศัยไม่ได้ บางพื้นที่มีการกัดเซาะถึง 100 เมตรต่อปี หลายพันครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการรุกคืบของน้ำเค็ม และมีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่ปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่วนพื้นที่อื่นก็เผชิญกับภัยแล้งซึ่งมีสาเหตุมาจากสองปัจจัยคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการก่อสร้างเขื่อน ณ ต้นน้ำ

รัฐบาลและชุมชนทั่วโลกในประเทศกำลังพัฒนาต่างตื่นตัวที่จะจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งานวิจัยล่าสุดในประเทศเวียดนามเป็นตัวอย่างหนึ่งของการจัดการดังกล่าว การอพยพเป็นทางเลือกหนึ่งในการปกป้องตนเองจากสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย รวมถึงการตั้งคันดินความสูงร่วม 4 เมตรเป็นระยะหลายพันกิโลเมตรตลอดชายฝั่งเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรถูกน้ำท่วม อย่างไรก็ดี คันดินดังกล่าวก็เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศเช่นกัน เพราะคนยากไร้และผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินถูกกีดกันไม่ให้สามารถหาปลามาบริโภคและจำหน่ายได้ คันดินดังกล่าวยังกันไม่ให้สารอาหารไหลลงสู่ทะเลตามกระบวนการธรรมชาติ

ตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแต่จะทำให้การอพยพย้ายถิ่นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การศึกษาขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งระบุว่าสภาวะอากาศสุดขั้วอย่างน้ำท่วม พายุไซโคลน การกัดเซาะชายฝั่ง และผืนดินที่ไร้ความอุดมสมบูรณ์ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ และบังคับให้คนเหล่านั้นต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน

จวบจนปัจจุบัน การพัฒนากระแสหลักที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหากับผู้มีรายได้ต่ำ สรุปจากตัวเลขประชากรที่มีภาวะทุพโภชนาการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นถึง 38 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ตัวเลข GDP ทั่วโลกเติบโตขึ้นร้อยละ 2.4

อาจถึงเวลาแล้วที่สังคมจะต้องเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ก่อนที่การอพยพย้ายถิ่นฐานจะกลายเป็นสภาวะวิกฤติ

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Climate change is triggering a migrant crisis in Vietnam โดย Alex Chapman และ Van Pham Dang Tri
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง Shutterstock.com