ก่อนจะถึง 30 ปี : ในวาระ 16 ปี สืบ นาคะเสถียร (2549)

ก่อนจะถึง 30 ปี : ในวาระ 16 ปี สืบ นาคะเสถียร (2549)

ปี 2549 ผมบันทึกไว้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าได้ถูกดึงเข้าไปเป็นเครื่องมือวุ่นวายกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีข่าวหนาหูว่าผู้บริหารขณะนั้นกะเกณฑ์เจ้าหน้าที่ไปในโครงการปฏิบัติธรรมแต่แท้จริงแล้วให้มาเฝ้าระวังและป้องปรามการชุมนุมทางการเมืองโชคดีที่ไม่ถึงขั้นไปมีส่วนร่วมใด ๆในระดับที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ผลกระทบต่อแง่มุมความมั่นคงคือเจ้าหน้าที่ถูกเรียกเก็บอาวุธปืนที่มีประสิทธิภาพในระดับอาวุธสงครามไปเก็บไว้ที่กองทัพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงที่อาจจะเป็นสงครามกลางเมือง

ผลกระทบคือเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น พื้นที่ชายแดน หรือ พื้นที่ที่มีการตัดไม้พยุง ขาดขวัญกำลังใจในการเดินลาดตระเวนเนื่องจากขาดอาวุธที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับอีกฝ่าย ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่มีข่าวพนักงานพิทักษ์เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ที่ภูสีฐาน ผมจึงโยงเรื่องราวมาบันทึกไว้ในวาระครบรอบ 16 ปี สืบนาคะเสถีย

วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี มีหลายคนเรียกวันนี้ว่า “วันสืบ นาคะเสถียร”

1 กันยาปีนี้เป็น ปีที่ 16 ของกาลเวลาที่คุณสืบตัดสินใจใช้เสียงปืนยิงตัวตายเพื่อให้ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์ป่า ผืนป่า และการเสียสละของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในการลาดตระเวนเฝ้าระวังรักษาไพร

ช่วงอาทิตย์ที่แล้วก่อนขึ้นเดือนกันยายนประเทศไทยอื้ออึงไปด้วยเสียงระเบิดที่ไม่ระเบิด ในกรณีข่าวการปองร้ายผู้นำที่ผู้คนประจักษ์ได้ถึงบรรยากาศแห่งการสร้างภาพและเหตุการณ์ที่ทำให้เข้าใจกันไปต่าง ๆ นานาด้วยเรื่องไร้สาระในแวดวงการเมือง

วันที่ 21 สิงหาคม มีข่าวเรื่องพนักงานพิทักษ์ป่า นายจำนง คนขยัน พนักงานราชการเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูสีฐาน โดนคนร้ายชุ่มยิงเสียชีวิตที่รอยต่อจังหวัดกาฬสินธุ์และมุกดาหาร ตามข่าวพบว่าเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่เข้าขัดขวางขบวนการตัดไม้ทำลายป่าอย่างเข้มแข็ง แต่ข่าวนี้ก็ถูกเสียงระเบิดที่ไม่ระเบิดกลบจนไม่มีความสำคัญอันใด

ปลายเดือน มีข่าวที่กองทัพบกขอเรียกเก็บปืนเอชเค 33  จำนวน 1000 กระบอก ที่ปัจจุบันกรมอุทยานฯ ขอยืมมาให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ 143 แห่งทั่วประเทศใช้ลาดตระเวน ตามข่าวพบว่ากองทัพบกต้องการนำไปใช้ในภารกิจในสถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ แน่นอนว่าในการนี้ย่อมมีข่าวไม่เห็นด้วยจากทางกรมอุทยานฯ และในขณะเดียวกันก็มีคนให้ความคิดเห็นเชื่อมโยงไปสู่การวิเคราะห์ว่าเกี่ยวข้องกับการที่รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เจ้าหน้าที่ฝึกอาวุธ และอาจจะนำไปสู่การปฏิบัติการนอกเหนือหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการ “เฝ้าระวังไพร” มาเป็น “เฝ้าระวังใคร” แทน

ตามบรรยากาศทั้งหมดล้วนผูกโยงเข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองที่ประชาชนถูกบังคับให้ต้องเลือก “เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งที่ไม่แน่ใจว่าทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงคงอยู่ของชาติและสังคมมากน้อยเพียงใด

1 กันยายน ปี 2533 คุณสืบเปิดเรื่องจริงหลาย ๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานการของทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า เรื่องภาวการณ์ทำงานของกระทรวงและกรมที่มีหน้าที่ดูแลป่าหาผลประโยชน์ในขณะนั้น เรื่องการเสียสละของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในระดับลูกจ้างที่ต้องเสี่ยงชีวิตโดยไร้สวัสดิภาพ สวัสดิการที่พอเพียง ตลอดจนเรื่องความสำคัญของผืนป่าใหญ่อย่างห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร จนได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก และเชื่อมโยงไปถึงการอนุรักษ์ผืนป่าต่อเนื่องในนามผืนป่าตะวันตกให้ดำรงสภาพผืนป่าต้นน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แน่นอนว่าความจริงต่าง ๆ เหล่านี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติในด้านทรัพยากร และความปกติสุขของคนในการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำท่าฟ้าฝนเป็นปกติอย่างแน่นอน

การเสียสละชีวิตของคุณสืบอาจจะเป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ที่ชีวิตของคนทำงานที่กล้าหาญ เอาจริงเอาจังคนหนึ่งต้องสังเวยชีวิตให้กับความเลวร้ายของระบบระบอบรัฐ การเมือง และราชการ ที่มั่วมัวเมาแค่เรื่องอำนาจและผลประโยชน์พวกพ้องดังที่ผ่านมาก่อน 16 ปี จนถึงปัจจุบันที่มีแต่จะมากขึ้นมากขึ้น จากความตายของคุณสืบจนถึงคุณจำนง เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการเสียสละของคนทำงานด้านทรัพยากรไม่ได้กระตุกกระตุ้นให้ขบวนการของคนใหญ่โตเลิกคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวมาทำเพื่อประโยชน์ของชาติแต่อย่างใด

สองสามปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าตามเจตนาของคุณสืบ เราต้องทัดทานถนนผ่านป่าหลายเส้นที่เกิดจากความคิดในการเปิดการค้าขาย ท่องเที่ยวระหว่างรัฐ และระหว่างกลุ่มจังหวัด ต้องทัดทานการแย่งชิงน้ำจากลุ่มน้ำหนึ่งไปสู่การพัฒนาในอีกลุ่มน้ำหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงระบบธรรมชาติ ต้องทัดทานการหาประโยชน์จากแหล่งธรรมชาติตามแนวคิดการเปลี่ยนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นที่ท่องเที่ยว ทัดทานการให้เอกชนเข้ามาดำเนินการต่าง ๆ ในผืนป่าและไล่ลูกจ้างเก่าออก ต้องทัดทานการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ต้องอพยพผู้คน น้ำท่วมป่า และต้องทัดทานโครงการเหมืองแร่ที่เข้าขุดทำลายผืนป่าหลายโครงการ เชื่อไหมว่าเรื่องราวทั้งหมดผูกโยงเข้ากับนโยบายการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดโดยผู้ว่า CEO และการตามอนุมัติงบประมาณในรูปแบบประชุมครม.สัญจร ซึ่งเป็นรูปแบบนวัตกรรมการสร้างผลงานแบบใหม่ที่ประเทศไทยไม่เคยรู้จักมาก่อน

จากเรื่องที่ว่ามา ดูเหมือนว่าเราชอบคัดค้านขัดขวางการพัฒนาไปเสียทุกเรื่อง แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่หากเกิดโครงการต่าง ๆ ผืนป่าและสัตว์ป่าก็จะเกิดผลกระทบ และจริง ๆ แล้วเรื่องที่ว่ามาทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่เกี่ยวพันกับอนาคตของชาติ หากสมดุลธรรมชาติต้องถูกทำลายลงเกินกำลังการปรับตัว

ขอรำลึกถึงเสียงปืนของสืบที่ไม่ได้ทำร้ายใครมากไปกว่าชีวิตตัวเองเมื่อ 16 ปีที่แล้ว และเรียกร้องให้คนใหญ่คนโตเลิกเล่น เลิกหลง กับเรื่องไร้สาระ เลิกใช้ระเบิด ใช้ปืนมาทำเรื่องหลอกกันทางการเมือง มาตั้งใจรักษาความมั่นคงของชาติในการรักษาฐานทรัพยากรให้อยู่ถึงอนาคตกันเถอะ

หมายเหตุ หลังจากนั้นมีเหตุการณ์รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เมื่อควบคุมสถานการณ์ไประยะหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และค่อย ๆ คืนอาวุธกลับมาให้ใช้ในการลาดตระเวน แต่ก็สะท้อนผลกระทบของการดึงหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องไปยุ่งเกี่ยวการเมืองที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดูแลทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของผู้พิทักษ์ป่า และเกือบทำให้เกิดความรุนแรงและการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงหากเกิดเรื่องปะทะจริง ๆ ขึ้นมาโดยอาวุธสงครามครั้งนั้นในมือของคนดูแลป่าที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ

 

 

ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ  เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร #30thSeub ภายใต้คอนเซ็ปต์ 30 ปีงานอนุรักษ์ “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” บรรณาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ จับพู่กันวาดภาพสีน้ำลากเส้นความทรงจำการทำงานในผืนป่าตะวันตกตลอดระยะที่ผ่านมา ประกอบเรื่องเล่า พาเราไปพบเจอผู้คนที่เกี่ยวพันธ์กับงานรักษาผืนป่า

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ


เขียนโดย ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
บันทึกและเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันเดือนกันยายน 2549 และรวมเล่มในหนังสือ “ผมทำงานให้พี่สืบ”
สำนักพิมพ์อินสปายร์ ในเครือนานมีบุ๊คส์ พ.ศ.2557