สาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 จากหนังสือ The Sixth Extinction

สาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 จากหนังสือ The Sixth Extinction

Ellizabeth Kolbert อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ เธอทุ่มเทเวลาในการเดินทางศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ไปในพื้นที่กรณีศึกษาหลายแห่งทั่วโลก การได้พบกับนักวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่พาเธอไปพบเหตุการณ์และข้อมูลเชิงประจักษ์หลายแห่งทำให้เธอรวบรวมเรื่องราวตัวอย่างการสูญพันธุ์ที่มีสาเหตุใหญ่ ๆ 5 ประการ 

สาเหตุของการสูญพันธุ์ 5 ประการ

สาเหตุแรก คือ จากเชื้อราและชนิดพันธุ์ที่รุกราน ซึ่งเธอได้เรียนรู้ตั้งแต่การวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและได้แยกถิ่นที่อยู่ปรับตัวให้อยู่รอดในทวีปต่าง ๆ โดยเชื่อมโยงกับทฤษฎีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่แยกชนิดของสิ่งมีชีวิตในภูมิภาคต่าง ๆ ให้แตกต่างกัน โดยอธิบายถึงสมัยที่แผ่นดินยังติดกันเมื่อในอดีตที่เรียกว่า “มหาทวีปพันเจีย” แต่ในปัจจุบันเธอเปรียบเทียบว่าทวีปพันเจียเหมือนเกิดขึ้นใหม่จากการเชื่อมโยงของการเดินทางของกิจกรรมมนุษย์ ทำให้มีเชื้อราจากทวีปหนึ่งไปถึงอีกทวีปหนึ่ง มีสัตว์และพืชที่ติดไปกับเรือสินค้าและกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ทั้งที่จงใจและไม่ตั้งใจส่งผลกระทบให้สัตว์ในพื้นที่เดิมถึงขั้นสูญพันธุ์ ดังเช่น กบสีทองที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเอลบาเยที่โดนเชื้อราไคทริดที่ติดมากับกบน้ำแอฟริกาถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเทคนิคทางการแพทย์ทดสอบการตั้งครรภ์ในยุค ค.ศ. 1950-1960 โน่น นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของเชื้อราจีโอมายซีสที่เกิดโรคราจมูกขาวในค้างคาวในอเมริกา

สาเหตุที่สอง คือ การเพิ่มภาวะความเป็นกรดในทะเลจากการละลายของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศ โดยมีกรณีศึกษาตามธรรมชาติในทะเลลึกทางตอนใต้ของอิตาลี และการเก็บข้อมูลในเกาะวันทรี ปลายเกรตแบริเออร์รีฟ ออสเตรเลีย ว่ามีผลต่อทั้งปะการังและสัตว์มีเปลือกหินปูนที่สร้างเปลือกไม่ได้ โดยเรื่องนี้มีหลักฐานสัมพันธ์กับการสูญพันธุ์ในอดีตตามหลักฐานทางธรณีวิทยาอีกด้วย

สาเหตุที่สาม คือ อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นมากที่สุดตั้งแต่เคยมีการศึกษากันมา น่าจะทำให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถปรับตัวได้ โดยมีกรณีศึกษาที่ชัดเจนในป่าอุทยานแห่งชาติมานูในเปรู

สาเหตุที่สี่ คือ การตัดขาดจากกันของผืนป่าทำให้เกิดป่าเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย หรือมีสภาพเป็นเกาะบนผืนแผ่นดินขึ้น มีส่วนทำให้จำนวนสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตลดจำนวนลงและสิ่งมีชีวิตหนึ่งก็จะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่น และมีจำนวนของสิ่งมีชีวิตไม่กี่ชนิดที่จะเพิ่มขึ้นแทน

สาเหตุที่ห้า สาเหตุสำคัญอีกเรื่องคือการล่าและทำลายสัตว์ขนาดใหญ่โดยมนุษย์โดยตรงตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์กระจายไปทั่วโลก รวมถึงอาจจะทำให้มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลหายไปด้วย

ในหนังสือจะอธิบายแบบเป็นการค่อย ๆ ไปเรียนรู้เหมือนผู้เขียน ว่าไปค่อย ๆ “เรียนรู้” อะไรมาบ้างจากที่ไหน ผู้อ่านอาจจะรู้สึกติดตามยาก

ผมลองรวบรวมสรุปมาเป็นตารางเผื่อให้จัดระบบความรู้ ในการทำความเข้าใจและค้นคว้าต่อไปมาให้ครับ

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)