การสูญพันธุ์ครั้งที่ 5

การสูญพันธุ์ครั้งที่ 5


ในหนังสือเรื่องการสูญพันธุ์ครั้งที่
6 ฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณสุนันทา วรรณสินธ์ บรรยายเหตุการณ์ที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งมาชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีในการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ห้า จากการศึกษาของพ่อ-ลูกตระกูลอัลวาเรซ (นักฟิสิกส์-นักธรณีวิทยา) ว่า

สะเก็ดดาวมาจากทางตะวันออกเฉียงใต้ องศาที่เคลื่อนที่ทำมุมต่ำเมื่อเทียบกับโลก ตอนที่มันปะทะกับคาบสมุทรยูกาตาน (ใกล้ ๆ เม็กซิโกในปัจจุบัน) มันเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 45,000 ไมล์ต่อชั่วโมง ไอน้ำร้อนระอุ และเศษดินเศษหินลอยตัวขึ้นไปเป็นกลุ่มเมฆขนาดใหญ่กระจายไปทั่วทั้งทวีป ขยายตัวและเผาไหม้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า

“พูดง่าย ๆ ถ้าคุณเป็นไทเซอราท็อป คุณมีเวลาสองนาทีก่อนที่จะระเหยเป็นไอ”

ฉากที่จินตนาการได้แบบนิยายวิทยาศาสตร์แบบนี้ ดูไม่น่าตื่นเต้นเมื่อเทียบกับภาพยนตร์ที่ทำ CG ได้เนียนตาแบบปัจจุบัน แต่นั่นก็ทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ระดับ “มหาวิบัติ” ได้ดี

(หนังสือ T.rex AND THE CREATER OF DOOM)

แต่สำหรับการถอดเรื่องราวเพื่อทำความเข้าใจถึงการสูญพันธุ์พร้อม ๆ กันทั่วโลก สองนาทีก่อนที่ไทเซอราท็อประเหยเป็นไอนั่นแค่ฉากเริ่มต้น เรื่องที่เราควรทำความเข้าใจคือปรากฏการณ์ที่ตามมาและผลทางนิเวศวิทยาที่หายนะของมัน

มีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลกทั้งจากตัวมวลของดาวเคราะห์น้อยที่แตกและระเหย รวมกับแรงระเบิดของเปลือกโลกที่กระเด็นขึ้นสู่ท้องฟ้ากระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะองค์ประกอบที่อุดมไปด้วยกำมะถัน ทำให้เกิดฝุ่นที่บดบังแสงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิโลกลดลง เรียกว่า “ฤดูหนาวหลังการปะทะ” ซึ่งน่าจะกินเวลาในระดับพัน ๆ หรือหมื่น ๆ ปี

แน่นอนว่าเมื่อแสงอาทิตย์ส่องไม่ถึงผิวโลก ระบบนิเวศป่าไม้ทั่วโลกถูกทำลาย ชุมชนพืชนานาพันธุ์ถูกแทนที่ด้วยเฟิร์นซึ่งกระจายตัวอย่างรวดเร็ว (Fern spike) ระบบนิเวศทางทะเลเมื่อไม่มีแสงอาทิตย์แน่นอนว่าสาหร่ายและปะการังล่มสลายซึ่งประมาณว่าอยู่ในสภาพนั้นห้าแสนหรือหลายล้านปี กลายเป็นทะเลแทบจะร้างชีวิต ซึ่งเรียกมหาสมุทรช่วงนั้นว่ามหาสมุทรสเตรนจ์เลิฟ (Strangelove ocean) น่าจะล้อมาจากตัวเอกของภาพยนตร์เก่า ๆ เรื่องวันสิ้นโลก

ในหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายหลักฐานทางซากฟอสซิลในช่วงรอยต่อยุคครีเตเชียสที่มีชนิดของสิ่งมีชีวิตที่พบอย่างแพร่หลายนอกจากสัตว์จำพวกไดโนเสาร์ที่เรารู้ดีอยู่แล้ว ก็คือ 95% ของสายพันธุ์แพลงก์ตอนที่นักเรียนธรณีวิทยาจะคุ้นเคยที่เรียกกันว่าพวกฟอแรม หรือ planktonic foraminifera ซึ่งมีจำนวนชนิดพันธุ์มากมาย ศึกษากันมาว่าเป็นตัวบ่งชี้อายุของชั้นหินหลายช่วงอายุมาถึงครีเตเชียส อยู่ดี ๆ จำนวนชนิดพันธุ์ก็ลดลงอย่างฉับพลัน เช่นเดียวกับการหายไปของสัตว์จำพวกแอมโมไนต์ที่มีแพร่หลายในการสะสมตัวของชั้นหินยุคครีเตเชียส โดยมีชั้นตะกอนที่ธาตุอิริเดียมที่เป็นตัวบ่งชี้การชนปะทะขั้นอยู่

ลักษณะทางธรณีวิทยาแบบนี้พบเป็นแบบแผนเดียวกันหลายแห่งในโลกจนนักธรณีวิทยายอมรับสมมติฐานการชนปะทะ (impact hypothesis) ซึ่งพวกเขาเทียบเคียงกับการระเบิดของระเบิดทีเอนทีร้อยล้านเมกะตัน หรือมากกว่าระเบิดไฮโดรเจนที่เคยทดสอบกว่าล้านลูก

ในการสูญพันธุ์ครั้งนั้นเทียบเคียงได้ว่าไดโนเสาร์ทั้งหมดสูญพันธุ์ สัตว์จำพวกนกสามในสี่ของวงศ์นกทั้งหมดหายไป รวมถึงสี่ในห้าของพันธุ์สัตว์พวกกิ้งก่ากับงู ตลอดจนสองในสามของวงศ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

แต่อย่างไรก็ตามก็มีสัตว์และพืชจำนวนหลายสายพันธุ์รอดพ้นการสูญพันธุ์วิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน

หรือกล่าวอีกด้านได้ว่า ทุกสิ่ง (และทุกคน) ที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้สืบสายพันธุ์ที่อยู่รอดจากการปะทะไม่ว่าวิธีใดวิธีหนึ่ง

การสูญพันธุ์ครั้งที่หก ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเรากำลังเข้าสู่ในระยะนี้ไม่ต้องมีการชนปะทะให้เกิดอิริเดียม และซัลเฟอร์ฟุ้งไปบังแสงอาทิตย์ ไม่ต้องมีการระเบิดครั้งใหญ่ (ยกเว้นว่าจะมีสงครามนิวเคลียร์มาร่วมด้วย) แต่แค่เรามีคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลมาทำหน้าที่แทนฝุ่นผงจากการระเบิด จนสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนสภาพทางเคมีครั้งใหญ่ทั้งในอากาศ และมหาสมุทร

สายพันธุ์จำนวนไม่น้อยกว่าการชนปะทะครั้งใหญ่เมื่อ 65 ล้านปีที่รอดมา ก็อาจจะไม่มีโอกาสรอดในครั้งนี้ ยกเว้นบางสายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ โดยอาจจะมีสัตว์จำพวกหนู และแมลงบางชนิดเป็นสำคัญ 

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)