ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับการอนุรักษ์

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับการอนุรักษ์

ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเรื่องโลกร้อนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงกล่าวมาก่อนที่ประเด็นนี้จะได้รับการอธิบายอย่างแพร่หลาย พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสพูดถึงโลกร้อนไว้ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ซึ่งเวลานั้นยังไม่เป็นที่สนใจ และมีการพูดถึงกันน้อยมาก

โดยทรงพระราชดำรัสไว้ในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา ความว่า “เพราะว่ามีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น เมื่อโลกนี้ร้อนขึ้นมีหวังว่าน้ำแข็งจะละลายลงทะเล และรวมทั้งน้ำในทะเลนั้นจะพองขึ้นถ้าเราศึกษาอย่างใจเย็น อย่างมีเหตุผลแล้ว ก็จะหาทางแก้ไขได้ หรืออย่างน้อยก็พยายามแก้ไขมันดีกว่าที่จะมาขัดแย้งกัน…”

ปีนี้ผมอายุ 49 ปี ผมจำได้ว่าตั้งแต่เด็กเรื่องความสำคัญของป่าไม้เราไม่ได้เรียน เราเพิ่งมาตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้กันอย่างจริงจังในช่วงประมาณหลังปี พ.ศ. 2530 ด้วยซ้ำไป พระองค์ท่านไปเรียนที่สวิสเซอร์แลนด์จึงได้เรียนกับอาจารย์ฝรั่ง ตอนที่ผมเรียนมัธยมปลายเพิ่งจะมีข้อมูลเรื่องพวกนี้เข้ามา ซึ่งผมเรียนคณะวิทยาศาสตร์จึงมีการพูดถึง แต่ท่านพูดไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ต่อมาค้นเจออีกว่ามีพระราชดำรัสเมื่อปี พ.ศ. 2512

โดยมีการค้นพบว่าเรื่องป่าไม้มีความสำคัญกับประเทศไทยจากหนังสืออุทยานแห่งชาติใต้ร่มพระบารมีจักรีภูมิพล ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยมีพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2512 ว่า “…อาจมีบางคนไม่เข้าใจว่าทำไมจึงสนใจเรื่องชลประทานหรือเรื่องป่าไม้ จำได้ว่าเมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่งซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้วสอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียนว่า ภูเขาต้องมีป่าไม้ไม่อย่างนั้นเม็ดฝนตกลงมาแล้ว จะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ไปทำความเสียหาย ดินหมดจากภูเขาเพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้เรื่องการอนุรักษ์ดิน และเป็นหลักชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบนจะทำให้เดือดร้อนตลอด ตั้งแต่ดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำ ทำให้น้ำท่วม นี่น่ะเรียนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ…”

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร / PHOTO พัชริดา พงษปภัสร์

ผมขออนุญาตยกเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพูด เพราะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในระดับโลก และถือได้ว่าเป็นปรัชญาเปลี่ยนโลก ปรัชญาที่หยุดการทำลายโลก แต่แทบไม่เคยคิดอะไรแบบนี้อย่างเป็นระบบ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก

ผมเคยคิดอยู่นานว่า พอเพียง คือ พอดีไหม พอดีเข้าใจง่ายกว่า แต่พอเพียงลึกซึ้งกว่า สิ่งที่เข้าใจง่าย เข้าใจยาก และลึกซึ้ง มันทำได้ยาก ถ้าไม่มีแผนภาพ ไดอะแกรม หรือระบบความคิด

3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ ห่วงความพอประมาณ ห่วงความมีเหตุมีผล ห่วงความมีภูมิคุ้มกัน และเงื่อนไขความรู้ กับเงื่อนไขคุณธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือ เศรษฐกิจพอเพียง มีบ้านเล็กๆ มีข้าวปลูก และขุดบ่อปลา เป็นสัญลักษณ์ใหญ่และเป็นแนวทาง แต่พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี 3 ห่วง คิดได้ประมาณ 2 ปี คิดได้แต่การปฏิบัติความรู้กับคุณธรรมนั้น สองสิ่งนี้เป็นเรื่องของการวางแผนการปฏิบัติที่มีหลายเรื่องเป็นองค์ประกอบ

หากพูดถึงการอนุรักษ์ ผู้ที่นำทางความคิดของผมว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์อย่างไร เกิดขึ้นครั้งที่ผมถูกเชิญไปวิวาทะขณะสถานการณ์การเมืองกำลังร้อนแรง ตอนนั้นผมเริ่มมีชื่อเสียงหลังจากผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ประมาณต้นปี พ.ศ. 2555 แล้ว กลุ่มนักคิดทางการเมืองได้เชิญผมมาวิวาทะเรื่องเขื่อนแม่วงก์ที่ร้านหนังสือปัญญาชนสายเสรีนิยมประชาธิปไตย ผมเตรียมข้อมูลว่ากักเก็บน้ำเท่าไหร่ ท่วมป่าเท่าไหร่ มีเสือกี่ตัวที่ได้รับผลกระทบ ปรากฏว่าผมไม่ได้พูดเรื่องนั้น ผมโดนเปิดด้วยนักคิดหนุ่มที่เป็นนักธุรกิจท่านหนึ่ง เขาบอกว่าไม่ค่อยอิงกับแนวคิดด้านการอนุรักษ์เพราะน่าจะเป็นเรื่องเดียวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วันนั้นเราคุยเรื่องนั้นกันอยู่ 3 ชั่วโมง เราตอบโต้กันในบทความ เฟสบุ๊ค อย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนกันอยู่พักหนึ่ง ผมยอมรับว่าไม่อยู่ในฝ่ายเศรษฐกิจพอเพียง เพราะผมไม่ใช่จริงๆ ผมไม่ได้คิดว่าการอนุรักษ์เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแม้จะเป็นเรื่องคล้ายๆ กัน แต่จากการวิวาทะครั้งนั้นมันทำให้เราได้คิดอะไรเยอะ ประมาณ 3 เดือนที่แล้วผมคิดว่ามันน่าจะใช่

โมเดล คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้ ในบริบทชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง พื้นที่อุ้มผาง / มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ผมเคยทำโมเดลเรื่องคนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้ ตอนที่พระองค์ท่านทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมเข้าไปทำงานกับชุมชนในป่าอุ้มผาง ผมคิดง่ายๆ ว่า ข้าว เกลือ พริก เป็นวิถีชีวิตของคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในชุมชนที่ผมเข้าไปทำงานด้วย การปลูก ‘ข้าว’ คือ ที่ดินทำกิน ‘เกลือ’ เป็นสิ่งที่เขาผลิตไม่ได้ ปัจจัยการผลิต คือ ‘พริก’ เป็นรายได้อย่างเดียวของเขา และถือเป็นสัญลักษณ์ของรายได้ เราจะทำอย่างไรให้สามส่วนนี้เป็นฐานไปสู่ความยั่งยืน โดยตีความในเรื่องต่างๆ ทำอย่างไรให้เกิดความพอเพียงพอดี

ผมเข้าไปทำงานในป่าเยอะ แต่ไม่ได้ทำงานเชิงวิทยาศาสตร์แบบของมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก แต่เป็นการทำงานเชิงสังคมร่วมกับชุมชนมากกว่า

ดร. เจมส์ วาย ซี เยน (James Y C Yen) เป็นนักการศึกษาและนักพัฒนาชาวจีน มีปรัชญาของนักสังคมนิยม NGO เวลาที่เข้าไปทำงานกับชาวบ้านว่า”มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นคนเท่ากันจึงมีสิทธิพึงจะได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรมและมีเกียรติในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”

การที่ NGO จะเดินเข้าไปทำงานกับชุมชนได้นั้นเราต้องเชื่อในเรื่อง (1) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ (2) เชื่อว่าแต่ละคนสามารถพัฒนาได้ และมีความต่างได้ แต่อย่าดูถูกดูแคลนสติปัญญา คิดอะไรเป็นพื้นฐาน

และเรื่องสมดุลและความพอเพียงของคนกระเหรี่ยง ต้นไม้ ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ป่า และคน อยู่อย่างสมดุล โลกก็จะอยู่อย่างสันติสุข แต่ถ้าคน ครอบครัว ชุมชน และโลก มีปัญหาเมื่อไหร่ ต้นไม้ ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ป่า ก็จะมีปัญหาตามมา

ผมพาชาวบ้านจับพิกัดพื้นที่ภูมิประเทศด้วยเครื่องมือทันสมัยอย่าง จีพีเอส (Global Positioning System : GPS) กับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ และให้ดูแผนที่ เพราะผมเชื่อว่าชาวบ้านสามารถพัฒนาได้ ปรากฏว่าเขาสามารถตกลงเรื่องแนวเขตบนเทคโนโลยีจีพีเอสกับแผนที่ภูมิประเทศได้ ดังนั้น สิ่งนี้ยืนยันว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะเรียนรู้

PHOTO มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

และที่สำคัญประชาชนชาวบ้านมีสิทธิ์ที่จะพ้นจากความยากจนได้ ดังนั้น รูปแบบการทำงานของเราจึงต้องดึงฝ่ายราชการเข้าไปสร้างการมีส่วนร่วมด้วยความสัมพันธ์ฉันท์มิตร และสร้างความน่าเชื่อถือจากประชาชนได้ ทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนที่เป็นทางการอย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ เช่น ปราชญ์ชุมชน สร้างการประชุมรูปแบบต่างๆ และเข้าไปเป็นคนกลางจัดการความขัดแย้ง เกิดกิจกรรมการร่วมมือในการอนุรักษ์ และมีโมเดลจัดการลดความขัดแย้งในผืนป่าตะวันตกอย่างมีส่วนร่วม

พื้นที่ที่ผมเข้าไปทำงานบ่อยๆ คือ 7 หมู่บ้าน ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ปรากฏว่าโครงการที่นั่งคิดอะไรซับซ้อนที่ซึ่งเดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่กับชาวบ้านทำงานร่วมกันอย่างเป็นมิตร ทั้งที่เมื่อก่อนเป็นคู่ขัดแย้งกัน เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก สามารถช่วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรคิดโมเดลที่มีความซับซ้อนวุ่นวายของผม เขามีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาทำงานอนุรักษ์ ว่าจะทำงานกับชาวบ้านบนทางสายกลาง คือเรื่อง 3 ห่วง พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งดูเป็นนามธรรม แต่พอเป็นรูปธรรม รายงานคือสิ่งที่ตอบโจทย์ทั้งหมด

ความพอประมาณ คือการทำไร่หมุนเวียนเกษตรพอเพียง ใช้แนวทางการมีส่วนร่วมในการหาทางออก ข้อมูลการใช้ที่ดิน ให้พอประมาณ ไม่เยอะไป ไม่มากไป

มีเหตุมีผล คือ มีเวทีพูดคุยทุกรูปแบบ เกิดความยอมรับทั่วกันในการจัดการพื้นที่ มีแผนที่แสดง ร่วมกันตรวจสอบ มีกติกา และขั้นการจัดการปัญหา

มีภูมิคุ้มกัน คือ การพึ่งตนเอง เช่น ปลูกผัก ทอผ้า เครือข่ายกลุ่มคนทำงาน เช่น กลุ่มหมอปฏิวัติ กรรมการชุมชน และอื่นๆ การฟื้นฟู ดูแลป่า มีกติกาชุมชนและข้อมูลแผนที่ ประสานการทำงานกับองค์กรภายนอก

โดยมีเงื่อนไขความรู้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กฎหมายวัฒนธรรม การจัดการเชิงระบบนิเวศ พาไปดูงาน เสริมความรู้ด้านอาชีพ และมีเงื่อนไขคุณธรรม เข้าใจเข้าถึงพัฒนา ใช้หลักธรรมาภิบาล เจ้าหน้าที่ไม่กลั่นแกล้งชาวบ้าน ชาวบ้านก็เคารพข้อกฎหมายกติกาที่ตกลงไว้

PHOTO มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ผมยอมรับว่าเศรษฐกิจพอเพียงกับงานอนุรักษ์มันไปด้วยกันได้ เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เขตรักษาพันธุ์ทุ่งใหญ่นเรศวรทำโมเดลให้ผมดู นี่คือสิ่งที่หัวหน้าเขตหัวหน้าพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ร่วมกันคิดขึ้นมา

แต่เรื่องใหญ่ที่ผมจะพูดไม่ใช่เรื่องนี้ แต่เป็น “ทางสายกลาง” ซึ่ง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มีความลึกซึ้งมาก

ผมคิดว่าถ้าเราจะจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราจะต้องแปลความเป็นนามธรรม ทั้งเรื่องพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน เหล่านี้ให้ออกมาเป็นรูปธรรม เหมือนที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทำให้ผมดู ผมไม่เคยมองเรื่องการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ที่กำลังได้รับความนิยม ผมนึกถึงเรื่องนโยบายเดียวกัน

พอประมาณในเรื่องของระบบนิเวศคืออะไร ป่าไม้ใช้ได้ ถ้าระบบการทำงาน (Function) ไม่เสีย หากป่านั้นเป็นป่าต้นน้ำ เราเข้าไปเก็บหาของป่า และป่ายังสามารถดูดซับน้ำได้อยู่ ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้านั้นเป็นป่าที่มีการอนุรักษ์สัตว์ป่า อนุรักษ์นกเงือก เราเข้าไปเก็บหาของป่า จนนกเงือกกับสัตว์ป่าไม่สามารถอยู่ได้ ใช้ป่าแบบนั้นไม่ได้ นี่คือความพอประมาณ พ่นสารเคมีไปแล้วอาหารนกเงือกน้อยลง แบบนี้ใช้ไม่ได้ กรอบการพัฒนาฟังก์ชั่นระบบนิเวศต้องไม่เสีย

มีเหตุมีผล มีเวที และพื้นที่ปรึกษาหารือที่ดี

มีภูมิคุ้มในตัวที่ดี ก็ต้องมีนโยบายกฎหมายกำกับดูแล

เงื่อนไขความรู้ สมดุลธรรมชาติและคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสิ่งสำคัญ ความรู้เรื่องสมดุลธรรมชาติเป็นความรู้ที่ขาดในประเทศไทย หากถามว่ามีป่าตั้งเยอะขอนิดเดียวได้ไหม ผมตอบว่าได้ ถ้าเป็นป่าที่ไม่มีความสำคัญในเรื่องสัตว์ป่า แต่ถ้าเกิดตรงนั้นมีความสำคัญในเรื่องสัตว์ป่า อย่างพื้นที่ที่จะทำเขื่อนแม่วงก์ แม้เป็นไม่กี่เปอร์เซ็นของป่าตะวันตกเราก็ไม่ยอม แต่ถ้าเป็นป่าที่ไม่มีความสำคัญในเรื่องของสัตว์ป่า เมื่อทำเขื่อนแล้วปลูกป่าทดแทน อันนี้เป็นเรื่องของสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งความรู้ต้องเป็นความรู้ด้านเทคโนโลยี เทคนิคการจัดการ และทักษะการทำงานด้วย

ในขณะที่คุณธรรม คือ ความเป็นธรรม ความโปร่งใส คิดถึงผลลัพธ์ในแง่ความยั่งยืน อันนี้ผมตีความในเรื่องของการจัดการทรัพยากร

เป้าหมาย เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความสมดุลพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ถ้ามองในแง่ของการอนุรักษ์ ผมเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือจากการทำรัฐประหารก็ตาม ถ้าเราทำแบบสอบถามประชาชน อันนี้คือเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไข ไม่ว่าสิบปีที่แล้ว ปีนี้ หรือว่าสิบปีข้างหน้า

ทุนนิยมเสรี มีเรื่อง (1) ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง (2) แก้ไขความยากจน กระจายความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ ทำโครงการใหญ่ๆ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินให้เกิดการกระตุ้น และ (3) รักษาสิ่งแวดล้อม ในศตวรรษนี้ไม่มีใครปฏิเสธการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่กลับให้อยู่ลำดับที่ 3

ผมตีความว่า หากเราอยากให้การพัฒนาเศรษฐกิจเข้มแข็งตั้งแต่ฐานรากเป็นส่วนใหญ่ คือการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้อง ผมเสนอให้รัฐบาลรักษาฐานทรัพยากร ทั้งดิน น้ำ ป่า ทะเล พลังงาน และคุณภาพสิ่งแวดล้อม (คุณภาพสิ่งแวดล้อม หมายถึง คุณภาพอากาศ น้ำ ดิน ขยะ) เมื่อฐานทรัพยากรและคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีแล้ว เราจะสามารถกระจายความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างยั่งยืน

ผมยกตัวอย่างให้เห็นถึงการทำประมงอวนรุน อวนลาก เพราะเรามีปัญหาเรื่อง IUU Fishing ตอนนี้เรามีชาวประมงพื้นบ้านใช้เครื่องมือท้องถิ่นหาปลาอยู่ 80 เปอร์เซ็น ใน 23 จังหวัด และอีก 20 เปอร์เซ็นเป็นประมงแบบอวนรุน อวนลาก แต่ทว่าทรัพยากร 80 – 90 เปอร์เซ็นถูกการทำประมงแบบอวนรุน อวนลากเอาไป ถ้าอวนรุนอวนลากรักษากติกา อย่างเช่นชาวประมงพื้นบ้านอีก 80 เปอร์เซ็น จะสามารถจับปลาได้มากมหาศาลต่อไปอีกในอนาคต นี่คือตัวอย่างของการรักษารากฐานทรัพยากร

ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีการท่องเที่ยว มีนักเดินทางบ้าง ส่วนใหญ่เดินทางไปกลับ ค้างตามเทศกาลบ้าง ยังมีปัญหาสารพัด แต่สิ่งที่รักษาความเป็นเขาใหญ่ไว้คือธรรมชาติ ไม่ให้มีรีสอร์ต ไม่ให้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง รีสอร์ตกับเศรษฐกิจรอบเขาใหญ่ตั้งแต่โคราช นครนายก ปราจีนบุรี เกิดการจ้างงานมหาศาล หมู่เกาะพีพี มีเนื้อที่น้อยกว่า เกรตแบร์ริเออร์ (Great Barrier Reef) ประเทศออสเตรเลีย ประมาณหมื่นเท่า อาจจะเล็กบ้าง แต่ยังคงสภาพไว้ได้ เศรษฐกิจ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ดีทั้ง 3 จังหวัด ไม่เห็นต้องทำลายเกาะพีพีทิ้ง แค่ไปฟื้นฟูแนวปะการังก็พอ เพราะเรารักษาฐานทรัพยากรและความเป็นธรรมในการเข้าถึง

ส่วนเรื่องป่าชุมชน หากรักษากติกาไม่ให้ใครเข้าไปปลูกยางพารา แต่เข้าถึงหน่อไม้ เห็ดโคนได้ หากคนส่วนใหญ่พัฒนาความเป็นธรรมในการเข้าถึงอย่างมีกรอบกติกาอย่างที่เราคิด เศรษฐกิจฐานรากจะดี ในที่สุดก็เกิดเหมือนกับการใช้ทุนนิยมเสรีไม่มีอะไรต่าง เพียงแต่มันยั่งยืนกว่า

เมื่อ 12 กันยายน พ.ศ. 2557 ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงนโยบายนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวคิด ถ้ารัฐบาลคิดอย่างนี้ แล้วเรื่องทุนเสรีนิยมหรือเศรษฐกิจพอเพียงที่กล่าวไปแล้ว คิดหรือไม่คิด ผมไม่ทราบ ดังนั้นผมเสนอว่าให้รัฐบาลคิดเรื่องดิน น้ำ ป่า ทะเล และพลังงาน

ชวนให้ทุกคนคิดว่าสิ่งต่อไปนี้คือ ‘การพัฒนา’ ที่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่
– การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างการพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่เชียงแสน
– เกษตรพันธสัญญาหรือ GMO
– เขื่อนขนาดใหญ่ นั้นดีและมีประโยชน์ แต่ต้องในจำนวนที่เหมาะสม แต่การสร้างเขื่อนเพิ่มต่อไปจากนี้ ถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่
– มองแม่น้ำเป็นเส้นทางขนส่ง เช่น กรณีระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อซูฮกให้ประเทศจีน ถามว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงไหม ผมว่าเป็นยาก
– ในยุคทุนนิยมเสรี การสัมปทานป่าไม้
– ป่าเศรษฐกิจพัฒนาการท่องเที่ยว
– ถ้าเรามีหมู่เกาะตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ดีที่สุดและแห่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย แล้วเราจะทำท่าเรือปากบาราที่ผ่านเกาะตะรุเตา นี่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่
– โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่และที่เทพา เอามาเพื่อให้ไฟฟ้าขาดแคลนหรือเอามาเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อที่จะให้ลูกหลานได้อ่านหนังสือ หรือให้ต่างชาติมาลงทุนและบอกว่าค่าไฟถูก ถ้าเราต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อให้ต่างประเทศมาลงทุนเพื่อให้บ้านเราค่าไฟที่มั่นคง ถ้าเป็นแนวคิดทุนเสรีนิยมไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากเรายังใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ผมว่ามีปัญหาทางความคิด ว่าเราจะไปทางไหนกันแน่

เนื้อเพลง 2548

ย่างก้าวสำคัญ แยกตรงนั้นมันมีเพียงสอง
แยกหนึ่งแสงสีเรืองรอง แยกสองป่าดงพงพฤกษ์พนา
แน่นอนนักเดินทางอย่างเราเข้าใจไม่ช้า
จะเลือกเดินทางอย่างเราเข้าใจไม่ช้า
จะเลือกทางป่า คงไม่ลำบากไม่อยากจะไป

แม่มีปัญหามาให้เราคิดสักนิดสักหน่อย
สองแพร่งที่คอย คอยให้คนตัดสินใจ
แพร่งหนึ่งสนานสนุกสำราญหนี้บานตะไท
อีกทั้งจับจ่ายบริโภคเสี่ยงโชคนานา

ขบวนรถเรา ย่างเข้าที่เจ็ดสิบสาม
ลุ่มๆ ดอนๆ ไปตาม เส้นทางชื่อปรารถนา
บางคราวบางครั้ง เข้มแข็ง บึกบึน เก่งกล้า
อำนาจกับวาสนา ทั้งบารมีที่แฝงการโกง…กิน

เหลือเพียงทางป่า ที่ว่าไม่รู้ไปสู่แห่งไหน
แต่น่าสนใจเพราะเป็นทางใหม่ให้เราอยู่กิน
แลดูเขียวๆ เลี้ยวลัดกันไป ไม่มีสุดสิ้น
คือแผ่นดิน ที่ต้องสร้างทำด้วยน้ำมือเรา

จะเอาทางไหน จะไปทางใด
จะเอาทางไหน จะไปทางใด สองห้าสี่แปด

นี่คือเพลง 2548 ถูกเขียนโดยศิลปินท่านหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2548 เป็นเวลาเดียวกับตอนที่พระองค์ท่านเข้าโรงพยาบาลศิริราช แล้วเกิดความขัดแย้งทางการเมือง เพราะบ้านเรากำลังไปในทิศทางทุนนิยมเสรี นับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จนถึงปี พ.ศ. 2548 บ้านเรามีประชาธิปไตยมา 32 ปีเกิดการปฏิวัติบ้าง ปรากฏทางแพร่งแตกเป็นสายให้เลือกไป ผมไม่มีปัญหาอะไรกับเสื้อสี ไม่มีปัญหาอะไรกับคุณทักษิณ ชินวัตร ผมเพียงแต่คิดว่าด้านการอนุรักษ์แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็คิดว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่จะหยุดการทำลายโลกได้ ถ้าเรามาตีความ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีเหมือนกับทุนนิยมเสรี แต่มีการปฏิบัติที่ตรงกันข้าม แต่สามารถสร้างความยั่งยืนได้มากกว่า

ดังนั้น ถ้าคุณมองต่อไปในวันที่รัฐบาลบอกว่าจะใช้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนโยบาย ซึ่งจะเป็นความหวังที่สามารถผูกผลลัพธ์ได้เหมือนแนวคิดทุนเสรีนิยม ซึ่งเรายังอยู่กับทุนนิยม การพัฒนา เศรษฐกิจที่ดีได้ เราจะนำ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขมาตีความอย่างไร

คำว่า ‘ป่า’ ที่ปรากฏในเนื้อเพลง 2548 เป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ได้หมายถึงการอนุรักษ์อย่างเดียว แต่เป็นสัญลักษณ์ใหญ่ ที่ทำให้เรานึกถึงกระท่อม นาห้าไร่ นักธุรกิจที่พลิกฟื้นทุ่งนา แล้วนึกถึงนโยบายใหญ่ๆ ของรัฐบาล ปีนี้ปี พ.ศ. 2560 แล้ว เราก็มาดูว่าจะไปกันในทิศทางใดต่อ

 


 

ปาฐกถาพิเศษ ‘ในหลวงรัชการที่ 9 กับการอนุรักษ์’ โดย ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในงานวันรักนกเงือก เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล (พญาไท)
ถอดบทความโดยพัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร